วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความสำคัญของบรรณาธิการ



ความสำคัญของบรรณาธิการ


งานบรรณาธิการเป็นงานอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านบรรณาธิการมาใช้ในการทำงาน เพื่อกระบวนการจัดทำหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่น จนผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐาน
การจัดพิมพ์หนังสือเป็นศาสตร์สากล แม้เกิดขึ้นในเบื้องแรกทางซีกโลกตะวันออก คือ ประเทศจีน ประมาณปี ค.ศ. 868 แต่วิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือหรือการผลิตหนังสือเล่มที่เก่าหลับเกิดขึ้นที่ซีกโลกตะวันตกตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นต้นมา และมีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
วิธีการและแนวปฏิบัติในการทำหนังสือเล่ม มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามนิยม จนเกิดเป็นระบบการจัดทำหรือการผลิตหนังสือตามมาตรฐานขึ้น โดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางประการ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบการจักทำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในเอเชีย ที่มีการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น
การพิมพ์และการผลิตหนังสือในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบนิตยสาร วารสาร และหนังสือเป็นเล่ม พัฒนาการการพิมพ์และการจัดทำหนังสือในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดโดยเฉพาะระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านระบบการพิมพ์ และการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่ก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศใดในแถบเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น
แต่ว่าการพัฒนาด้านการจัดทำหนังสือ ในแง่ของการเขียนเนื้อหาสาระและการเปลี่ยนสภาพต้นฉบับงานเขียน ให้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือที่น่าอ่านตามมาตรฐานสากลนิยมปฏิบัติ หรือพูดในภาษาวิชาการว่า”การบรรณาธิการ” นั้น กล่าวได้ว่า แทบไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในการปฏิบัติในสำนักพิมพ์ หรือในการศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในขณะที่การจักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน หรือการจัดทำนิตยสาร วารสาร มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาและออกมาปฏิบัติงาน สืบทอดวัฒนธรรมการทำหนังสือพิมพ์ตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน การจัดทำหนังสือยังไม่มีบุคลากรมืออาชีพ หรือบรรณาธิการมืออาชีพมาสืบสานวัฒนธรรมการผลิตหนังสือเล่มให้เห็นอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้รักหนังสือ เรียนรู้จากการปฏิบัติตามๆ กันมา หรือได้รับการอบรมเบื้องต้นมาบ้างจากสถานศึกษา แต่เมื่อต้องมาปฏิบัติงานอย่างจริงจัง จึงเกิดความไม่แน่ใจ ลังเล อีกทั้งยังขาดหนังสือที่ใช้เป็นคู่มือปฏิบัติงานบรรณาธิการด้วย จึงนับว่าสถานภาพของผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่ม จึงเหมือนยืนอยู่บนสะพานที่ง่อนแง่นจวนเจียนตกเหวอยู่


บรรณาธิการ
ราชบัณทิตสถาน (2538,หน้า 461)ให้คำนิยามไว้ว่า บรรณาธิการ คือ ผู้จัดเลือกแฟ้น รวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้ง หรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับงานชิ้นนั้น
หัวใจของบรรณาธิการคือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ต้นฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ
ในขั้นตอนก่อนการพิมพ์ บรรณาธิการ จะเป็นบุคคลสำคัญมากในการกำหนดรูปแบบ พิจารณาเนื้อหา เลือกกระดาษ ระบบการพิมพ์ และกำหนดรูปเล่มของหนังสือตลอดจนราคา บรรณาธิการจึงต้องทำงานประสานหลายกลุ่มคน ต้องตื่นตัวอยู่เสมอและติดตามในทุกๆเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่แวดล้อม ต้องมองและต้องรู้ก่อนผู้อ่าน ต้องวินิจฉัยได้ก่อนผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นผู้ชี้ให้รู้เหตุรู้ผล บรรณาธิการจะต้องรู้จักนักเขียนดี




ขั้นตอนและวงจรงานของบรรณาธิการอาจลำดับได้ดังนี้

1. การวางแผนการทำงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ การแบ่งงาน การกำหนดผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา ประมาณการค่าใช้จ่าย การคาดคะเนผล
2. การจัดหาต้นฉบับ บรรณาธิการมีหน้าที่เสาะหาต้นฉบับที่มีข้อมูลถูกต้อง บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงแหล่งที่ดี สื่อความได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินอารมณ์ ผู้อ่านได้รับความรู้และอยากเรียนรู้ต่อไป
3. การรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเนื้อหามีความซับซ้อน หรือมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วง ทั้งในวิชาการหรือทางกฎหมาย
4. การทำความตกลงกับผู้เขียน กรณีมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจะรัดกุมกว่าด้วยวาจา ส่วนหนึ่งอาจนำไปสู่การทำสัญญาต่อไป งานด้านนี้อาจต้องมีนิติกรร่วมด้วย
5. การจัดทำแฟ้มต้นฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ เช่น การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการ ข้อตกลง สัญญา ข้อมูล เนื้อหา ภาพ หลักฐานอ้างอิงที่ค้นเพิ่มเติมระหว่างการตรวจแก้ต้นฉบับ
6. ประมาณการและกำหนดรูปเล่ม ในด้านความยาวของเนื้อหา ขนาดรูปเล่ม ตัวพิมพ์ การวางรูปหน้ากระดาษ
7. การอ่านตรวจต้นฉบับอย่างละเอียด เรียกตา ศัพท์บัญญัติว่า การบรรณาธิกรต้นฉบับโดยใช้คู่มือตรวจตามแบบเฉพาะของสำนักพิมพ์เอง หรือ แบบเฉพาะอื่นๆเพื่อตรวจแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง ทั้งด้านเนื้อหาและส่วนประกอบ ความต่อเนื่องของเนื้อหา ระบบการจัดโครงสร้างเนื้อหา การอ้างอิง รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
8. การแจ้งให้ผู้เขียนรับรู้การแก้ไขต้นฉบับ การแก้ไขต้นฉบับขึ้นอยู่กับทั้งบรรณาธิการและผู้เขียน และเป็นเรื่องเฉพาะกรณี รวมทั้งการเก็บบันทึกเรื่องนี้ไว้ในแฟ้มต้นฉบับด้วย
9. การพิมพ์ต้นฉบับ โดยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบต่างๆแล้วแต่สำนักพิมพ์
10. การตรวจพิสูจน์อักษร ต้องทำหลายครั้งและหลายคน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน



คุณสมบัติทางด้านรูปธรรมของบรรณาธิการหนังสือ

1. ต้องมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา ต้องทราบเกี่ยวกับเบื้องหลังของหนังสือแต่ละเรื่องที่ผ่านมา คือ จะต้องรู้ว่าใครเป็นคนอ่าน อ่านอะไร เมื่อไร
2. รู้ตัวเองว่าทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นั่นคือมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี บรรณาธิการจะต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ออกแบบหนังสือหรือผู้วาดภาพประกอบ ผู้จัดรูปเล่ม ตลอดจนผู้จัดจำหน่าย การติดต่อใกล้ชิดกับบุคคลหลายกลุ่ม เช่นนี้ และจะประสานให้กลุ่มต่างๆทำงานสอดคล้องไปด้วยดีนั้น ผู้ประสานงานหรือตัวบรรณาธิการจำเป็นต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
3. มีความสามารถในการวางแผนงาน รู้เป้าประสงค์ในการทำหนังสืออย่างชัดแจ้ง และรู้วิธีว่าหนังสือที่ทำนั้นจะเข้าถึงผู้อ่านอย่างไร
4. บรรณาธิการที่ดีจะต้องมีสุขภาพดีด้วย สุขภาพนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นบรรณาธิการ
คุณสมบัติทางด้านนามธรรมของบรรณาธิการหนังสือ
1. ความศรัทธา ต้องถามตนเองว่ามีความสนใจในสิ่งที่ทำหรือเปล่า ถ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กก็ถามตนเองว่าสนใจในโกจริงหรือไม่
2. เข้าใจผู้อ่าน เข้าใจเด็ก ทราบถึงธรรมชาติ ความรู้สึก ความต้องการของเด็ก ตลอดจนอารมณ์และความนึกคิดของเด็ก
3. รู้จักพิจารณา ตัดสิน เลือกเรื่องได้อย่างถูกต้อง หนังสือที่ออกมาจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าบรรณาธิการมีความสามารถและการตัดสินใจดีหรือไม่
4. บรรณาธิการจะต้องมีความสามารถในการใส่ภาพเข้าไปในเรื่องได้อย่างเหมาะสม
5. ต้องทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดให้
บรรณาธิการจะต้องเป็นผู้วางแผนเบื้องต้น จะต้องมีวัตถุประสงค์ให้ได้รับความรู้โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะต้องส่งเสริมความรู้ สร้างอุปนิสัยที่ดีงาม เพราะผู้อ่านเป็นผู้อ่านเองและรับทราบด้วยตนเอง ดังนั้นหนังสือจึงอาจเป็นพิษภัยหรือประโยชน์ก็ได้ บรรณาธิการจะต้องเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้อ่านได้แสดงออกซึ่งความคิด ความสามารถ


ภาระหน้าที่ของบรรณาธิการมากมายและยิ่งใหญ่มาก คนคนเดียวบางครั้งไม่สามารถจะแบกรับภาระหน้าที่ได้ดีหมดทุกด้าน ด้วยเหตุนี้บรรณาธิการจึงต้องมีหลายคน และทำหน้าที่ต่างๆกัน เท่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

1.บรรณาธิการใหญ่ (บริหาร) ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาวิชาการในหนังสือ หรือจะเรียกว่าบรรณาธิการอำนวยการ ก็คงได้
2.บรรณาธิการจัดการ (Managing Editor) ดูแลเรื่องทั่วไป แต่ไม่ลงลึกในเนื้อหาวิชาการของหนังสือนั้นๆ
3.บรรณาธิการทั่วไป (Editor or General Editor) ส่วนมากเป็นตำแหน่งลอยคอยให้ความช่วยเหลือบรรณาธิการประเภทอื่นๆอาจจะเรียกว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาก็ได้
4. บรรณาธิการผู้ช่วย (Assistant Editor) หนังสือเล่มหนึ่งมีได้หลายคน
5.บรรณาธิการมอบหมาย (Commissioning Editor) คือมอบงานใดงานหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่งให้ไปทำในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
6.บรรณาธิการร่วม (Associate Editor)
7. บรรณาธิการที่ปรึกษา (Consultant Editor) ในหนังสือหรือวารสารเล่มหนึ่งๆจะมีกี่คนก็ได้
8. บรรณาธิการย่อย (Copy Editor or Sub editor)
9. บรรณาธิการเฉพาะด้าน (Features Editor) เช่นบรรณาธิการแฟชั่น (Fashions Editor) บรรณาธิการกีฬา (Sports Editor) เป็นต้น
10. Acquisitions Editor ทำหน้าที่คล้ายๆ กับบรรณาธิการ


วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บทสัมภาษณ์ป้าเติม รุ่งวงศ์

บทสัมภาษณ์ป้าเติม รุ่งวงศ์ : แม่ค้าขายไข่ปิ้งที่ชายหาดบางแสน

ในหัวข้อความสำคัญของการเรียนหนังสือ

ผู้สัมภาษณ์ : สวัสดีค่ะ เราเป็นนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้เรามาขอสัมภาษณ์คุณป้า เกี่ยวกับการค้าขายและเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการศึกษาหน่อยนะคะ
ป้าเติม : ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าขายไข่ปิ้งที่นี่มานานหรือยังคะ
ป้าเติม : จะปีหนึ่งแล้วค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ :แล้วแต่ก่อนป้าทำอาชีพอะไรคะ
ป้าเติม : ป้าก็ทำนาอยู่ที่ขอนแก่นค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทำนานี่มันดี หรือ ไม่ดีอย่างไรคะ คุณป้าถึงได้มาขายไข่ที่นี่คะ
ป้าเติม : ก็ดีค่ะ เพราะว่าทำนาเสร็จป้าก็มาขาย
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อพอหมดหน้านาป้าก็มาขายไข่ เป็นเหมือนอาชีพเสริมอย่างนี้หรอคะ
ป้าเติม :ค่ะ พอไม่ได้ทำนาป้าก็มาขาย
ผู้สัมภาษณ์ :แล้วใครเป็นผู้ชักชวนป้ามาขายไข่ที่นี่ล่ะคะ
ป้าเติม :คุณอาค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ :คุณอาบอกว่ามาขายที่นี่รายได้ดีหรือว่าอย่างไรคะ ป้าถึงมาทำ
ป้าเติม : ค่ะ ก็พอขายได้ เค้าก็ชวนหลายครั้ง แต่แฟนป้าก็ยังไม่ให้มาค่ะ แต่คุณป้าก็อยากจะมา ป้าก็บอกแฟนว่า พ่อให้แม่ไปเถอะ
ผู้สัมภาษณ์ : แฟนป้าเขาเป็นห่วงใช่ไหมคะ แต่ว่าก็ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ
ป้าเติม : แต่พอมาแล้วก็สนุกดีค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ป้ามาขายที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ป้าเติม : ตั้งแต่วันลอยกระทงที่ผ่านมาค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วป้าจะกลับไปอีกเมื่อไหร่คะ
ป้าเติม : กลับมาแล้วค่ะ กลับไปสองอาทิตย์ ไปทำมาเสร็จแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วปีหนึ่งนี่ป้าไปกลับยังไงคะ
ป้าเติม : ป้าก็มาขายเดือนนีง เดือนกว่า ก็กลับบ้านทีนึง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วป้าพักอยู่แถวไหนคะ
ป้าเติม : ป้าพักอยู่ที่วงเวียนบางแสน รู้จักซอยโยคะ ไหมคะ ป้าอยู่ตรงซอยร้านทำฟันพอดีเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วค่าเช่าบ้านล่ะคะ
ป้าเติม : ก็ถ้าอยู่สองคนก็พันห้า ถ้าอยู่สามคนก็ สองพัน
ผู้สัมภาษณ์ : ทั้งที่บ้านหลังเท่ากัน แต่นับคนใช่ไหมคะ
ป้าเติม : ค่ะ ห้องก็ไม่เล็กไม่ใหญ่ค่ะ ก็พออยู่
ผู้สัมภาษณ์ : ปีนี้ป้าอายุเท่าไหร่แล้วคะ
ป้าเติม : 53-54 แล้วค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ป้ามีลูกกี่คนคะ
ป้าเติม : 2คนผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วลูกป้าตอนนี้อายุเท่าไหร่คะ
ป้าเติม : คนโตเกิด 2525 คนเล็กเกิด 2528
ผู้สัมภาษณ์ : คนโต 25 คนเล็ก 23 แล้วเรียนจบที่ไหนคะ
ป้าเติม : ลูกสาวคนโตเรียนที่กรุงเทพ เรียนที่ราชภัฏ
ผู้สัมภาษณ์ : ราชภัฏ อะไรคะ
ป้าเติม : ราชภัฏสวนดุสิต
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคนเล็กเรียนที่ไหนคะ ยังเรียนอยู่หรือเปล่าคะ
ป้าเติม : จบแล้วค่ะ มีรูปให้ดูด้วยค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : นี่มีรูปลูกป้ามาให้ดูด้วย
ป้าเติม : ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้ววันหนึ่งนี่ป้าขายได้เยอะไหมคะ
ป้าเติม : ถ้าคนเยอะวันหนึงป้าก็ได้ 1,000-1,200แค่นี้แหละ
ผู้สัมภาษณ์ : ก็สบายเลยค่าเช่า ไม่มีปัญหาเลย
ป้าเติม : จ้า ก็พออยู่ได้
ผู้สัมภาษณ์ : รายได้ดีด้วย
ป้าเติม :แต่มันก็ไม่ได้ ขายได้ทุกวันนะ มันก็เฉลี่ยกันไป
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วนี่ป้าเริ่มขายตั้งแต่กี่โมงคะ
ป้าเติม : ป้าออกมาบางวันก็สามโมง บางวันก็สี่โมง แต่ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ก็สองโมง
ผู้สัมภาษณ์ : วันเสาร์อาทิตย์ คนเยอะ ป้าก็ออกมาเร็วหน่อย
ป้าเติม : ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วป้ากลับกี่โมงคะ
ป้าเติม : กลับดึกค่ะ บางวันก็เที่ยงคืน บางวันก็ตี 1 บางวันก็ตี 2 บางวันก็ตี 3 ไม่แน่ แล้วแต่คนเที่ยวเยอะ
ผู้สัมภาษณ์ : กลับบ้านดึกๆ ป้าไม่กลัวหรอคะ
ป้าเติม : ก็ดีค่ะ ไม่น่ากลัวหรอก ป้าอยู่มาก็ไม่มีอะไรน่ากลัว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเวลาคนเมา มาซื้อไข่ปิ้งอย่างนี้ล่ะคะ
ป้าเติม : ก็ดีค่ะ มนุษยสัมพันธ์ดีมากเลย ไม่วุ่นวาย น่ารักมากเลยค่ะ เมาแล้วไม่จู้จี้
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ
ป้าเติม : แต่ความจริงลูกสาวป้าเขาก็ไม่อยากให้ป้ามาหรอกนะ แต่ป้าบอก เอามันเป็นความสุขของแม่ แม่อยากไปเองแหละลูก
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วป้าภูมิใจไหมคะ ที่ลูกเป็นห่วง
ป้าเติม : ภูมิใจค่ะ ภูมิใจทุกอย่างเลย ทั้งลูกสาวลูกชาย ลูกป้าน่ารักทุกคนนะคะ
ผู้สัมภาษณ์ : ลูกสาวป้าเรียนสาขาอะไรคะ ที่ราชภัฎสวนดุสิตรียนราชภัฏสวนดุสิตใช่ไหมคะ เรียนายเองแหละลูกาทิตย์ก็สองโมง
ป้าเติม : ฝ่ายบริหารค่ะ เค้าบอกว่าจบมาแล้วเขาจะไปสอบเป็นปลัด ไปปกครองอะไรแบบนี้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนี้เรียนจบแล้วใช่ไหมคะ
ป้าเติม : จบแล้วค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ทำงานหรือยังคะ
ป้าเติม : ทำแล้วค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ทำงานอะไรที่ไหนคะ
ป้าเติม : ทำงานอยู่ที่บิ๊กซี ทำงานโรงหนังค่ะ ที่กรุงเทพฯค่ะ อยู่บางกะปิ
ผู้สัมภาษณ์ : เรียนจบที่กรุงเทพฯก็ทำงานที่กรุงเทพฯเลย แล้วป้าคิดว่าการที่ลูกป้าเรียนจบปริญญาตรีทำให้คุณภาพชีวิตของลูกป้าดีขึ้นไหมคะ
ป้าเติม : ก็ดีค่ะ ป้าก็ภูมิใจ ลูกจบแล้วก็สบายใจ
ผู้สัมภาษณ์ : วันรับปริญญาป้าได้ไปหมคะ
ป้าเติม : ไปค่ะ ไปก็ภูมิใจในตัวลูกสาว ก็พ่อแม่ทุกคนก็ภูมิใจ ดีใจกับลูกสาวที่ทำได้ถึงทุกวันนี้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วลูกชายป้าล่ะคะ
ป้าเติม : ลูกชายป้าเรียนอยู่ที่ท่าพระ สารพัดช่าง
ผู้สัมภาษณ์ : เรียนช่างอะไรคะ
ป้าเติม : ช่างยนตร์ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ
ป้าเติม : เดี๋ยวนี้เขาไปทำงานอยู่ไดกิ้น(daikin) ทำแอร์
ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อลูกป้าทั้งสองคนเรียนจบ แล้ว ได้ส่งเงินให้ป้าใช้หรือเปล่าคะ
ป้าเติม : ส่งค่ะ แต่ป้าก็ไม่อยากได้ของเขาหรอกนะ ป้าก็หาของป้าเอง บางทีก็พัน บางทีก็พันห้า ลูกชายบางทีก็ได้ห้าพัน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วลูกสาวป้ามาเที่ยวหาแม่ที่บางแสนบ้างหรือเปล่าคะ
ป้าเติม : มาคะ ลูกสาวก็มาหา ส่วนลูกชายตอนนี้ก็มาอยู่ด้วยกันกับแม่
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าจบการศึกษาจากชั้นไหนมาคะ
ป้าเติม : ป้าจบ ป.4 ที่บ้านหนองกรุง ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อจบป.4 แล้วป้าทำอาชีพอะไรต่อคะ
ป้าเติม : ก็ทำนา ทำไร่ ไร่ปอ ไร่มันสำปะหลัง พออายุ 17 ก็เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ได้เงินเดือนๆละ 100บาท
ผู้สัมภาษณ์ : 100 บาทต่อเดือนหรอคะ กินอยู่กับเขาหรอคะ
ป้าเติม : ปีหนึ่งก็ได้กลับบ้านครั้งหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : มีคนมาซื้อไข่ปิ้งค่ะป้า
ป้าเติม : เอาไข่อะไรดีคะ ไข่ทรงเครื่อง หรือไข่ธรรมดา
ผู้สัมภาษณ์ : ซอสหมดค่ะป้า ป้าไม่ใช้ยางมัดถุงซอสหรอคะ
ป้าเติม : ไม่ค่ะ ใช้ผินเอา
ผู้สัมภาษณ์ : มันไม่หลุดหรอคะ
ป้าเติม : ไม่หลุดหรอกค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : นี่เป็นความสามารถพิเศษที่ไม่สามารถเลียนแบบได้
ป้าเติม : ทำไม่ยากค่ะ ลูกชายยังทำเป็นเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ป้ากินขนมค่ะ
ป้าเติม : เชิญค่ะ ป้าอิ่มแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : ป้ากินข้าวหรือยังคะ
ป้าเติม : กินแล้วค่ะ วันนี้ป้ากินข้าวกับปลาเห็ดโคนนะคะ
ผู้สัมภาษณ์ : แกงใส่กะทิหรอคะ
ป้าเติม : ไม่ค่ะ แกงใส่น้ำปลาร้าธรรมดานี่แหละค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ป้ากินข้าวเย็นตอนกี่โมงคะ
ป้าเติม : ป้ากินตอนประมาณทุ่มหนึ่งค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ห่อมาจากบ้านหรอคะ
ป้าเติม : ค่ะ ห่อมาจากบ้านแล้วก็ไปกินที่หาดวอนกับอา
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างนี้ป้าก็ห่อข้าวเหนียวมาด้วยก็ได้นี่คะ เวลาหิวก็เอามากินกับไข่เรา
ป้าเติม : ได้ค่ะ แต่วันนี้ไข่จะหมดแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วป้าขายมานานแล้ว แล้วช่วงไข้หวัดนก เป็นอย่างไรบ้างคะ
ป้าเติม : ไม่ค่ะ ก็ไม่มีอะไร ไม่มีผลกระทบค่ะ แต่ลูกค้าก็จะบอก เอาไข่สุกๆนะคะป้า ก็ขายได้เรื่อยๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าเคยคิดอยากขายอย่างอื่นไหมคะ
ป้าเติม : ก็ไม่รู้จะขายอะไรค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ไข่ทรงเครื่องเป็นยังไงคะ
ป้าเติม : ไข่ทรงเครื่องก็อร่อย(หัวเราะ) ก็มีซอส รสดี มีพริกไทย
ผู้สัมภาษณ์ : บอกสูตรได้ไหมคะว่าทำไง
ป้าเติม : บอกได้ ก็เอามีดปลายแหลม ตอกๆให้ไข่เป็นรูแล้วก็เขย่าออก แล้วก็ปรุงเครื่อง เหมือนไข่ตุ๋นแหละค่ะ เพียงแต่ไข่ตุ๋นเราทำใส่ชาม ไข่ทรงเครื่องเราตุ๋นใส่ลูกไข่
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วปาเตรียมของตั้งแต่กี่โมงคะเนี่ย
ป้าเติม : ป้ากลับไปตี 1 ตี2 นอนตื่นก็ 8-9 โมงแล้วแต่ แล้วก็นึ่งไข่ถึงเที่ยง แล้วก็นั่งกินข้าวเช้า แล้วก็ก่อไฟ กว่าจะเสร็จก็บ่ายสอง บ่ายสาม ก็ออกมาขาย
ผู้สัมภาษณ์ : เหนื่อยไหมคะ พักผ่อนพอไหมคะ
ป้าเติม : พอค่ะ เราก็ขายไปเรื่อยๆ พักผ่อนไปเรื่อยๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ชินแล้วใช่ไหมคะ
ป้าเติม : ค่ะ เหนื่อยตอนไหนรู้ไหมคะ ตอนกลับบ้านค่ะ รถบางคันก็วิ่งเร็วบางคันก็วิ่งช้า ออกตั้งแต่แปดโมง บางทีก็มาถึงค่ำ นั่งรถป. 2 ไม่ได้นั่ง ป. 1
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ารถเท่าไหร่คะ
ป้าเติม : จากขอนแก่นถึงหนองมน 350 บาท
ผู้สัมภาษณ์ : สามีป้าอยู่บ้านคนเดียวหรอคะ
ป้าเติม : คนเดียวค่ะ เลี้ยงวัว ดูแลข้าวที่ดำไว้ แต่ปีนี้ลำบาก ฝนดีมากเลย คันคูขาด ต้องปั้นคันแทนา เรามาขายของอย่างนี้ยังดีกว่าอยู่บ้านนะ เลี้ยงวัวก็ลำบาก ต้องไปตัดหญ้ามาให้วัวกิน
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าคะแล้วป้ามาขายของอย่างเนี้ยแล้วเห็นเด็กๆมาเที่ยวกัน ป้าคิดอย่างไรคะ ว่าเอาเป็นนิสิต ทำไมไม่อยู่หออ่านหนังสือ
ป้าเติม : ความรู้สึกของป้า ป้าก็ว่าเค้าเรียนมากแล้ว เค้าต้องมาเปิดหูเปิดตามาพักผ่อน เคร่งเครียดกับการเรียนมากแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าคิดว่าถ้าป้าเรียนสูงๆ จบปริญญาตรี จะทำให้ป้ามีอาชีพดีขึ้นไหมคะ
ป้าเติม : ก็ดีค่ะ ถ้าเราเรียนสูง การงานก็ต้องดี เงินเดือนก็ต้องเยอะ แต่เคยได้ยินไหมคะ เรียนจบก็สูงจบงานก็เยอะ
แต่ลูกชายคุณลุงคนที่ลูกสาวป้าไปทำงานด้วยอ่ะค่ะ เค้าเรียนเก่ง เค้าจบมาก็ไปทำธุรกิจเลย เค้าก็ทำงานตลาดหลักทรัพย์ ทีเงินพอได้กินได้ใช้ เค้าได้ไปทำงานดี พ่อแม่ก็สบาย
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าคิดว่าปัจจุบันรัฐบาล ส่งเสริมเรื่องการศึกษาดีไหมคะ
ป้าเติม : ดีค่ะ ดีมากเลยค่ะ คนจนก็ได้เรียน
ผู้สัมภาษณ์ : ลูกป้าได้ยืมไหมคะ
ป้าเติม : ได้ยืมค่ะ ลูกสาวยืม ม.1 ถึง ม. 3 ลูกชายก็ยืม เสร็จแล้วเขาก็ช่วยเหลือตัวเอง แม่ก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ เขาทำงานด้วย เรียนด้วย เขาก็ยังได้ส่งตังค์ให้แม่ด้วยนะ ก็ถึงได้บอกว่าลูกสาวแม่น่ารัก เค้าไปเรียน เขาไม่เคยบอกว่า แม่ขอตังค์หน่อย เขาสงสารแม่ ที่แม่มานี่ เขาก็บอกว่า แม่อย่าไปเลยมันลำบาก แม่ก็บอกว่า ให้แม่ไปเถอะ ความสุขเล็กๆน้อยๆ มาแล้วก็มีความสุขนะ ดูทะเล
ผู้สัมภาษณ์ : ป้าเดินขายไปถึงหาดวอน ฝั่งโน้นไหมคะ
ป้าเติม : เดินถึงค่ะ ตอนเย็นก็ไปมา
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเวลาป้าเห็นนักศึกษามาเที่ยว สูบบุหรี่ ป้าคิดอย่างไรคะ ในเมื่อเค้าก็ได้รับการศึกษาแล้ว ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้คะ
ป้าเติม : บางทีป้าก็แปลกใจนะ ผู้หญิงหน้าตาสวยๆ ดูดบุหรี่หมดทุกคนน๊อ มันดูไม่ดี ผู้ชายก็ดูไม่ดี ป้าก็คิดว่าคงจะเท่ห์แหละน้อ ป้าก็คิดในใจ
ผู้สัมภาษณ์ : คนที่เดินมานี่ ใช่อาป้าหรือเปล่าคะ
ป้าเติม : ใช่ๆค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : สวัสดีค่ะ
ป้าเติม : เพิ่นมาถามเอาข้อมูล ขายหมดยังล่ะ นี่หมดแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วถ้าคนที่ดูดเป็นลูกสาวป้า ป้าจะทำยังไง
ป้าเติม : ป้าจะทำอย่างไรดีล่ะ แต่ลูกชายดูด ป้าก็ยังเหม็นมากเลยนะ เวลาเดินขายไข่ไปก็ผ่านโต๊ะที่เขาดูด ก็ยังเหม็นมากเลย เคยดูโฆษณาที่อยู่ตรงป้ายรถเมล์ไหม ที่เขาบอก อ่าวเรารู้จักกันด้วยหรอ ทำไมคุณจะมาฆ่าฉัน

บทสัมภาษณ์อาจารย์ศรีหทัย ใหม่มงคล



บทสัมภาษณ์อาจารย์ศรีหทัย ใหม่มงคล หัวหน้าภาควิชาสารสนเทศศึกษา

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหัวข้อหนังสือและบรรณาธิการ


จุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของอาจารย์เริ่มต้นเมื่อไหร่คะ

- เริ่มตั้งแต่เด็กค่ะ ครูก็จำไม่ได้ว่า ป. ไหน น่าจะตอนอ่านออกเขียนได้น่าจะอยู่สัก ป.3 ป.4
เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ ป.3 ป.4 เลย เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ

ตอนนั้นอาจารย์ชอบอ่านหนังสือประเภทไหนคะ
- ด้วยความที่ครูเป็นเด็กบ้านนอกนะคะ สิ่งที่ครูอ่านก็จะเป็นประมาณถุงกล้วยแขกไรงี้ค่ะ หนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่เค้าห่อโน่นห่อนี่มาที่บ้าน คือเริ่มอ่านเล็กๆน้อยๆ เพราะว่ายังไม่มีโอกาสแบบได้สัมผัสหนังสือที่มันเป็นตัวเล่มจริงๆ แล้วก็เริ่มที่จะเข้าสู่วงการหนังสือจริงๆ ก็ตอนเข้ามัธยมค่ะ มัธยมหนึ่งก็เริ่มอ่าน
เริ่มเลือกหนังสือเป็นแล้ว ค่ะเริ่มเป็น เพราะว่าเริ่มตั้งแต่เข้าไปเป็นสมาชิกของชมรมห้องสมุดมั้งคะ แล้วก็เริ่มรักหนังสือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หนังสือที่อาจารย์อ่านแล้วมีความประทับใจมีหนังสืออะไรบ้างคะ
- เยอะมากค่ะ ที่ยังติดใจไม่รู้หายก็น่าจะเป็นปาฏิหาริย์รัก ของจีรนันท์ พิตรปรีชาหนึ่งเล่ม แล้วก็เจ้าชายน้อย แมงมุมเพื่อนรัก แล้วก็ถ้าเป็นหนังสือสมัยครูเด็กก็ของทมยันตีค่ะ และเงาเป็นนิยาย

หนังสือที่อาจารย์ชอบอ่านในวัยเด็กกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันไหมคะ
- ตอนเด็กนี่จะชอบนิยาย ชอบของหนักๆ ทมยันตี โสภาค สุวรรณ แต่ที่ชอบเหมือนตั้งแต่เด็กมาจนถึงแก่ คือ ครูจะชอบวรรณกรรมเด็ก จะอ่านได้ทุกทีแล้วก็จะมีจินตนาการตามไปทุกทีไม่เคยเปลี่ยน
ปัจจุบันก็ยังอ่านอยู่ แล้วก็อ่านตลอด นางนวลกับมวลแมวก็เป็นเล่มล่าสุดที่อ่านไป แล้วก็วางไม่ลงแล้วก็อ่านไม่รู้กี่รอบ ส่วนอะไรบ้างที่เปลี่ยนไปจากเด็กน่าจะเป็นเราเริ่มอ่านอะไรหนักๆ เราเริ่มอ่านอะไรที่เป็นแนววิเคราะห์มากยิ่งขึ้น เป็นการอ่านแล้วไม่ได้คิดตามเพียงอย่างเดียว อ่านแล้วคิดว่าเค้าพูดอย่างนี้ใช่รึเปล่า จะอ่านพวกวิเคราะห์มาก อ่านพวกสารคดีอะไรที่ไม่อยากอ่านก็ต้องถูกบังคับให้อ่าน อย่างเช่นสังคมมันบังให้เราอ่านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจซึ่งครูไม่ชอบเลย ไม่ชอบแต่ก็ต้องอ่าน อ่านเพื่ออัพเดทตัวเอง เพื่อให้รู้ทันว่าตอนนี้เขาไปถึงไหน เราจะเตรียมความพร้อมอะไร อย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือหนังสือที่จะต้องเตรียมสอนพวกหนู ต้องอ่านอะไรต่อมิอะไรเยอะมาก

การอ่านหนังสือเรียนกับหนังสือนอกเวลาอาจารย์ให้เวลากับการอ่านหนังสือประเภทไหนมากน้อยกว่ากัน
- ครูจะให้เวลากับหนังสือที่อ่านเล่นๆ มากกว่าหนังสือเรียน เพราะว่าครูคิดว่าครูเป็นเด็กความจำดี เป็นเด็กเก่ง ครูก็เลยตั้งใจเรียนในห้องเรียนแล้วก็อ่านแล้วก็จำตอนนั้น ส่วนที่เหลืออื่นๆ ครูไปอ่านแล้วก็เอามาประกอบกับสิ่งที่เรียน มันก็เลยค่อนข้างที่จะไปด้วยกันได้ แต่หนังสือเรียนไม่ค่อยอ่านค่ะ มีความรู้สึกว่าเราถูกบังคับตอนเรียนแล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้เวลากับหนังสืออื่นมากเป็นพิเศษ

หนังสือนอกเวลาเช่นแมงมุมเพื่อนรัก อาจารย์อ่านได้จากที่ไหน ห้องสมุดโรงเรียนหรือซื้ออ่านเองคะ
- ห้องสมุดโรงเรียนค่ะ สมัยนั้นมันไม่ได้เป็นหนังสือนอกเวลาของครูเสียด้วยซ้ำ หนังสือนอกเวลาของครูพวกหนูคงไม่รู้จัก เรื่องหนักๆ จำไม่ได้แล้วเยอะมาก ตั้งแต่อดีต แต่เล่มนี้เจอในห้องสมุด

วิธีการเลือกอ่านหนังสือของอาจารย์มีหลักในการพิจารณายังไงคะ หนังสือหน้าปกสวย ชื่อเรื่อง หรือที่ผู้แต่ง สำนักพิมพ์
- ครูจะไม่ค่อยสนใจนักเขียน เพราะครูมีความรู้สึกว่าในบางเรื่องบางโอกาสเราน่าจะให้โอกาสนักเขียนหน้าใหม่ๆ แต่ถามว่าสำนักพิมพ์ว่าสนใจไหม สนใจในบางครั้ง เช่น พอพูดถึงสำนักพิมพ์ซีเอ็ดอาจนึกถึงหนังสือที่เป็นวิชาการ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผีเสื้อก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่จริงๆแล้วจะสนใจตัวที่เป็นเอกสารมากกว่าว่ามันพูดถึงอะไร ชื่อเรื่องสะดุดใจ หน้าปกค่ะมีผลค่ะ หน้าปกถ้ามันทำให้ดึงดูดใจก็โอเค ถึงแม้นักเขียนจะโนเนม แต่สำนักพิมพ์น่าจะมาก่อนสำหรับครู นักเขียนยังไม่เท่าไหร่

เมื่ออาจารย์อ่านหนังสือจบแล้ว หนังสือที่ชอบและรู้สึกประทับใจและมีแนะนำให้เพื่อนอ่านด้วยไหมคะ
- มีค่ะมี ปาฏิหาริย์รัก ครูเป็นคนที่ชอบงานเขียนของจีรนันท์ พิตรปรีชา อะไรที่จะมีคุณค่าก็จะแนะนำให้อ่านอย่างเช่น หนังสือเล่มหนึ่งของจีรนันท์ พิตรปรีชาที่ครูชอบ คือ ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ อ่านแล้วยังได้รู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ เรื่องของการเมืองไทยในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ทำให้ได้อะไรเยอะ เยอะไปกว่าสิ่งที่เขาเขียนในเชิงสารคดี เราย้อนกลับไปถึงระบบการเมือง ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ในสมัยนั้นมากยิ่งขึ้น

อาจารย์แนะนำแล้วเขาไปอ่านรึเปล่าคะ
- ครูไม่แน่ใจ เพราะรสนิยมครูกับของเพื่อนๆ จะต่างกัน ครูชอบอ่านอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ แต่จำได้ว่าเล่มหนึ่งที่ครูแนะนำเพื่อนไปแล้วเขารู้สึกชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกันก็คือ เรื่องปาฏิหาริย์ แล้วก็ล่าสุดได้บอกเรื่องของนางนวลกับมวลแมว แต่ก็ไม่ได้คุยกันว่าได้อ่านหรือเปล่า

มีใครที่อ่านหนังสือแล้วประทับใจและแนะนำให้อาจารย์ไปอ่านบ้างไหมคะ
- มีค่ะมีเยอะ เพื่อนครูสองสามคนเป็นหนอนหนังสือมาก เป็นยิ่งกว่าครูอีก คนหนึ่งเป็นนักเขียนค่ะ อาจารย์อุไรวรรณ จิตเป็นธม ที่เขียนเรื่องพระจันทร์คงรู้สินะ เป็นวรรณกรรมเด็กของเกาหลี

ในทัศนะคติของอาจารย์ อาจารย์คิดว่าการเลือกหนังสืออ่านระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันไหมคะ
- ครูมองว่ายังไงก็ตามผู้หญิงละเอียดอ่อนกว่า ผู้หญิงเรายังใส่ใจเรื่องของหน้าปก สี ชื่อเรื่อง เรื่องของรูปแบบ การออกแบบ เรื่องของของแถมที่สำคัญ ในส่วนผู้ชายครูคิดว่าเขาคงไม่สนใจอะไรนอกจากเรื่องที่มันโดนจริงๆ เขาอ่านคำนำก็ตกลงเรื่องนี้ แล้วก็ซื้อ ส่วนผู้หญิงคิดว่ารายละเอียดน่าจะเยอะกว่า

ตอนเด็กๆ อาจารย์ใฝ่ฝันอยากเป็นอะไรคะ
- ตามสไตล์ไม่ครูก็นางพยาบาล มีสองอย่าง

ทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
- ต้องบอกว่าเป็นความผิดพลาด ตอนที่ครูสอบ ครูให้เพื่อนเลือกให้แล้วบอกเพื่อนว่าเอาภาษาอังกฤษ ด้วยความที่เป็นคนขี้เกียจ แล้วก็ยังคิดว่าตัวเองก็ยังเลือกภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีและอีกอย่างหนึ่งจำไม่ได้
แล้วตอนประกาศผลก็รู้ว่าติด แต่ก็ยังดีใจว่าติดภาษาอังกฤษ ไปถามเพื่อนว่าทำไมเลือกบรรณารักษ์ให้ เพื่อบอกว่าก็เห็นเธอชอบอ่านหนังสือ เธอจะชอบเป็นบรรณารักษ์ ซึ่งคิดว่าเป็นความผิดพลาดตอนนั้น แต่ทำไปทำมาก็รู้สึกดีที่อยู่ในวงการนี้(บรรณารักษ์) รู้สึกผิดพลาดตอนเรียน จบมาแล้วมันยิ่งกว่าอื่นใด มันเป็นกำไรชีวิตมากๆ

อาจารย์ทำงานสอนมากี่ปีแล้วคะ
- 8 ปีโดยประมาณ

อาจารย์เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยอะไรคะ
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งสองปริญญาเลย ปริญญาตรีกับปริญญาเอก สาขาเดียวกัน คือ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

อาจารย์มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบูรพาได้อย่างไรคะ
- อยากเปลี่ยนค่ะ ครูมีความรู้สึกว่าชีวิตครูมันน่าจะไปไกลกว่านี้ มีความรู้สึกว่ามันเบื่อ ตอนนั้นครูสอนที่
ราชภัฏภูเก็ตมันมีชนชั้นวรรณะ การทำงานมันไม่ค่อยสะดวกไม่ค่อยราบรื่น และที่สำคัญ คือ ห้องสมุดมันมีงบ มีอะไรน้อยมาก ไม่น่าจะพอสำหรับครูที่จะเตรียมการสอน ครูก็เลยลองดูมหาวิทยาลัยที่มีอะไรแปลกใหม่ ก็เลยเลือกเอง มาอย่างไม่มีเส้นมีสายที่มหาวิทยาลัยบูรพาแล้วก็ได้ทำงาน

อาจารย์มีครอบครัวรึยังคะ
- มีแล้วค่ะ ไม่มีลูก

ครอบครัวอาจารย์นี่รักการอ่านตั้งแต่ คุณพ่อ คุณแม่หรือเปล่าคะ
- ครอบครัวครูเป็นเกษตรกร ก็โอกาสที่จะอ่านน้อยมาก น้อยมากจริงๆ แค่หนังสือพิมพ์ก็หรูแล้ว อย่างที่ครูบอกตั้งแต่แรกการอ่านมาจากตัวครูเองจริงๆ เริ่มต้นด้วยความที่จากตัวครูเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นทุกอย่าง เหมือนอย่างที่บอกถุงกล้วยแขก ยันเมื่อก่อนกระดาษห่อผ้าอนามัย พอแต่งงาน แฟนครูก็อ่านค่ะ เขาค่อนข้างอ่านอะไรที่หนัก เพราะรสนิยมเขาคล้ายๆ ครู ก็คือชอบเรื่องของประวัติศาสตร์ ชอบเรื่องของสารคดี ในแนวเรื่องของชีวิต แต่การเมืองไม่ค่อยเท่าไหร่ แล้วก็เขาเริ่มอ่านอะไรหนักๆ และมาแนะนำครู ครูก็อ่านได้จากภาษาไทยก่อน จากนั้นเราได้จากภาษาไทยแล้วก็ไปอ่านต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษจริงๆ อย่างล่าสุดเล่มที่เขาซื้อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวที่หนังสือเขาเขียนมาว่า เมื่อก่อนเราเคยเชื่อว่าโคลัมบัสเป็นคนค้นพบโลก แต่หนังสือเล่มนั้นเขาเชื่อว่าคนจีนต่างหากที่เป็นคนค้นพบโลก 1421 คือปีที่คนจีนค้นพบ แต่ในขณะที่โคลัมบัสค้นพบโลกประมาณปี 1471 ครูก็อ่านจากเล่มภาษาไทยที่สำนักพิมพ์มติชนแปลออกมา มีความรู้สึกว่าของเขาน่าเชื่อถือเหมือนกัน การอ้างอิงทุกอย่างเลย เรื่องราวแม้กระทั่งการไปค้นพบดีเอ็นเอ ไปค้นพบการที่คนจีนไปอาศัยอยู่หลายๆ ที่ หลังจากนั้นพออ่านภาษาไทยเสร็จแล้วก็ไปอ่านภาษาอังกฤษก็เข้าใจอะไรยิ่งขึ้น สรุปคือ รักการอ่านแล้วก็อ่านอะไรหนักๆ

อาจารย์ใช้เวลาในการอ่านหนังสือต่อวันใช้เวลานานไหมคะ
- ต้องดูจังหวะค่ะ อย่างเช่น เป็นจังหวะช่วงปิดเทอม ช่วงเตรียมสอน ช่วงสอบก็จะลดน้อยถอยลงไป ถ้าเป็นช่วงปกตินี่ก็จะเป็น 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันแน่นอน แต่บางวันก็อ่านทั้งวันเลย

ปัจจุบันอาจารย์หาหนังสืออ่านจากที่ไหนคะ
- คละกันไปค่ะ ซื้อเองเป็นส่วนใหญ่ ห้องสมุดก็ไปบ้าง ร้านหนังสือก็ไปบ่อย ไปอ่านๆ แล้วก็ไป แต่ส่วนมากซื้อค่ะ แต่จะซื้อเฉพาะหนังสือที่คิดว่ามันโดนใจจริงๆ ถึงจะซื้อและอยากเก็บเอาไว้ แต่หนังสือที่ครูซื้อแล้วเล่มไหนที่ครูเปิดอ่านแค่หน้าแรกแล้วคิดว่าไม่ใช่ก็จะไม่อ่านอีกเลย

แล้วทำอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้นคะ
- เก็บเอาไว้ดู แล้วก็ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ว่าเคยคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอย่างนี้ หนังสือเดอะซีเคร็ต ที่คุณจีรนันท์ พิตรปรีชา เป็นผู้แปล อ่านแล้วมีความรู้สึกว่ามันมีความเป็นปรัชญามากเกินไป ครูก็อ่านได้สองสามหน้าแล้วก็วางและไม่อ่านอีกเลย

อาจารย์ชอบอ่านวรรณกรรมแปลมากกว่าที่คนไทยเขียนหรือเปล่าคะ
- ไม่ค่ะ วรรณกรรมแปลที่เน้น จะเน้นไปที่เรื่องของวรรณกรรมเด็กซะส่วนใหญ่ และสารคดีที่เน้นไปในทางสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ ถึงจะอ่าน แต่ถามว่าระหว่างไทยกับวรรณกรรมแปล ครูจะอ่านวรรณกรรมไทยมากกว่า

อาจารย์เคยคิดอยากเป็นนักเขียนไหมคะ
- ไม่เคยค่ะ เพราะว่ายากมากการเป็นนักเขียน แต่ถ้าจะให้ครูเขียนเล่นๆ นั้นได้ ถ้าให้เป็นนักเขียนจริงๆ ยังไม่ได้จริงๆ บทความในวารสารนั้นได้ แต่เป็นนักเขียน เรื่องใหญ่มาก

เวลาอาจารย์อ่านหนังสือแล้วพบข้อบกพร่องในหนังสืออาจารย์ความคิดเหนอย่างไรบ้างคะ
- ครูเสียใจ ข้อบกพร่องในที่นี้หนูจะหมายถึงคำผิดรึเปล่าคะ หรือว่าให้ข้อมูลผิดพลาด ก็รู้สึกเสียใจ และคิดว่าจะจำคนเขียนเอาไว้ จำสำนักพิมพ์เอาไว้ แล้วจะไม่ซื้อของเธออีกเลย

อาจารย์จะเพ่งเล็งไปที่ทางด้านสำนักพิมพ์ นักเขียน หรือบรรณาธิการรึเปล่าคะ
- ครูจะโทษสองอย่างค่ะ บรรณาธิการกับสำนักพิมพ์ สองอย่างเต็มๆ นักเขียนก็ไม่เท่าไหร่ เพราะคิดว่ามันต้องมีข้อผิดพลาดกันได้บ้าง แต่ต้องมีคนช่วย ในเมื่อจะกลั่นกรองมาเป็นหนังสือแล้ว น่าจะมีใครที่จะมาช่วยอีกทีหนึ่ง

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการมีความสำคัญกับหนังสืออย่างไรบ้างคะ
- ครูว่ามันเป็นหัวใจของหนังสือค่ะ เหมือนนักเรียนถ้าไม่มีครู หรือถ้านักการเมืองไม่มีใครมาตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง เรื่องของคุณภาพ มาตรฐานมันก็จะลดน้อยลงไปเยอะ คิดว่ามันคือหัวใจของหนังสือ

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไรคะ
- ครูมองหนึ่งต้องมีจินตนาการค่ะ เช่น เราอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่ได้ เราจะไปอ่าน 1421 ไม่ได้ เราจะไปอ่านแมงมุมเพื่อนรักก็ไม่ได้ ดังนั้นจินตนาการในที่นี้มันต้องหลากหลาย จะบอกว่าหลากหลายสาขา อย่างเช่นอ่านเรื่องไหนก็ต้องมีจินตนาการเรื่องนั้น จินตนาการไม่พอยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ใครก็ตามที่มีจินตนาการมักจะมีความคิดสร้างสรรค์ตามมา มีเรื่องของการใช้ภาษา การใช้ภาษาที่ต้องสุดยอดกว่านักเขียน ต้องรู้ว่าคำไหนที่ต้องใช้ในประโยคที่ต้องมีคำบรรดาศักดิ์สูงกว่า มีศักดิ์ต่ำกว่า คำไหนที่จะใช้ในบริบทนี้แล้วมันจะกินใจขนาดนั้น ก็ต้องช่วยนักเขียนแล้วก็ต้องทำงานร่วมกัน อีกข้อหนึ่งครูมองว่าเขาต้องเป็นคนที่ไม่มีอัตตา หมายความว่าเขาจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเขียนด้วย สมมุติครูเขียนประโยคหนึ่งแล้วครูใช้ประโยคนี้มันต้องมีที่มาและต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องใช้คำนี้ บางทีรสนิยมของการใช้คำหรือความคิดของนักเขียนกับบรรณาธิการมันอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องจูนให้เข้ากันให้ได้ว่าส่วนหนึ่งเราต้องเคารพนักเขียนด้วยในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของไอเดีย เรื่องของสมาธิ ครูว่าสำคัญมากๆ ต้องเป็นคนที่ใจรักแล้วก็มีสมาธิที่จะทำงานไม่ใช่แวบหนึ่งก็ออกแวบหนึ่งก็นั่น สิ่งสำคัญน่าจะเป็นคุณธรรม จริยธรรม แต่ครูไม่เคยเห็น เคยได้ยินว่ามีบรรณาธิการคนไหนที่จะเอาเรื่องของคนนั้น คนนี้ไปดัดแปลงเป็นของตัวเอง ในบ้านเรายังไม่มี เรื่องของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนักเขียน แม้กระทั่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเจ้าของสำนักพิมพ์ซึ่งว่าจ้างตัวเองมา แล้วเรื่องของการเคารพสิทธิทางปัญญาของคนอื่นเราต้องรู้ เราต้องรู้กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหายทรัพย์สินทางปัญญา พวกอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารสารสนเทศคิดว่าสำคัญเหมือนกัน

ตอนเด็กๆ อาจารย์รู้จักไหมคะว่าบรรณาธิการคืออะไร
- ไม่รู้จักค่ะ ไม่รู้จักเลยว่าบรรณาธิการคืออะไร เคยอยู่ในความคิด เริ่มมารู้จักบรรณาธิการน่าจะอยู่ตอน ม.4-6 มั้งคะ เพราะว่าตอนนั้นเริ่มเรียนสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์นี่ก็จะมีกองบรรณาธิการอะไรว่าไปเยอะแยะ ตอนนั้นเราเริ่มรู้แล้วว่าบรรณาธิการคือคนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนที่ผลิตออกมาเพื่อไปตรวจสอบภาษาที่เข้าใจในตอนแรก และเพิ่งจะมารู้จักคำว่าบรรณาธิการจริงๆ ก็ตอนที่มาทำหลักสูตรของภาควิชาถึงรู้ว่าเป็นอย่างนี้ บ้านเราก็มีด้วยหรือบรรณาธิการซึ่งปกติจะไม่ค่อยเห็นหรอกค่ะ ความจริงเราเคยเห็นไหมเวลาเราเปิดหนังสือไม่ค่อยมีหรอกว่าคนนี้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ใช่ไหมคะ ซึ่งถามว่ามันจำเป็นไหม มันก็จำเป็นเหมือนกัน เหมือนกับไตเติ้ลหนัง ถ้าสตีเว่น สปีลเบิร์กเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้มันจะต้องยอดเยี่ยม เหมือนกันหนังสือมันน่าจะมีว่าใครเป็นบรรณาธิการ แต่ตอนนี้ครูเริ่มดูแล้วว่าหนังสืออะไร เล่มไหนที่มีชื่อบรรณาธิการก็ค่อนข้างจะน่าเชื่อถือได้ว่ามันมีคุณค่า มันมีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่ง

อาจารย์คิดว่าสำคัญไหมคะที่บรรณาธิการต้องอ่านหนังสือหลากหลายสาขา
- สำคัญค่ะ สำคัญมากๆเลย เพราะว่าบรรณาธิการจะต้องอ่านแล้วก็เลือกนักเขียนมาตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ของเรา เช่นสำนักพิมพ์มติชนอย่างนี้นะคะ เขาเขียนได้หลากหลายก็ต้องเขียนได้หลากหลาย อย่างเรื่องประวัติศาสตร์เรื่องของการเมืองทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของการวิเคราะห์วิจารณ์ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งเรื่องราวในอดีตทั้งหลายทุกอย่างมันต้องโยงเกี่ยวกันหมดเลย ถ้าถามว่านักเขียนเราจะเน้นเรื่องบูรณาการ ที่ครูยกตัวอย่าง 1421 ต้องโยงกันไปหมดเลยทั้งเรื่องการเมืองในยุคนั้น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแผนที่ ภูมิศาสตร์ก็เกี่ยว ถามว่าคนที่เป็นบรรณาธิการจำเป็นจะต้องรู้เรื่องนี้ไหม ต้องรู้ รู้ลึกและรู้เยอะมันคือเหตุผล และถามว่าอ่านเยอะไหม ถ้าหนูไม่อ่านหนังสือหนูจะรู้สึกยังไงคะ พูดถึงอย่างง่ายๆ ที่หนูบอกว่าหนูต้องอ่านลิลิตตะเลงพ่าย หนูรู้จักลิลิตตะเลงพ่ายจากอะไรบ้าง วรรณคดี ถ้าหนูอยากรู้จักลิลิตตะเลงพ่ายจะรู้จักจากอะไรได้บ้าง หนูจะไปแตะวรรณคดีเลยรึเปล่า ไม่ใช่ไหมคะ เพราะน่าเบื่อ หนูต้องไปอ่านอะไรที่เกี่ยวข้องกับลิลิตตะเลงพ่าย อ่านในสิ่งที่เขาวิเคราะห์ อ่านเรื่องราวที่เขาเขียนสรุปโดยย่อ หรืออ่านเรื่องของบทประพันธ์ เรื่องของการวิจารณ์วรรณศิลป์ วรรณวิจักรอะไรอย่างนี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมบรรณาธิการจะต้องรู้อะไรเยอะแยะมากมาย การที่เราจะทำความรู้จักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันต้องอ่านจากหลายแหล่ง

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการต้องแสวงหาอ่านหนังสือต่างประเทศหรือหนังสือแปลไหมคะ
- มันขึ้นอยู่กับว่าเรื่องราวที่หนูเชี่ยวชาญหรือหนูจะจับอย่างเช่น ถ้าหนูจะเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักพิมพ์สักสำนักพิมพ์หนึ่งหนูต้องดูว่าสำนักพิมพ์นั้นเขาเล่นเรื่องอะไรบ้าง เขาถนัดเรื่องอะไรบ้าง แล้วเขาไปสายไหนบ้าง สายบางสายอาจจะเจาะลึกไปถึงเรื่องราวของต่างประเทศได้ด้วย เช่น สำนักพิมพ์มติชนเขาทำเรื่องของการเมือง สมมุติว่าใครจะเขียนเรื่องเลือกตั้งสักอย่างหนึ่ง ถามว่าตอนนี้อเมริกากำลังเลือกตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจำเป็นจะต้องรู้ไหม รู้ ถามว่าเขาต้องอ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็เขียนด้วยเรื่องอเมริกาอย่างเดียวไหม ไม่ เขาต้องไปอ่านบทวิเคราะห์ทั้งหลายที่เขียนถึงเรื่องราวนั้นแล้วเขาต้องตีให้แตกว่าฝรั่งตัวของเจ้าบ้านเองเขาคิดอย่างนี้แล้วเราคิดยังไง แต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องไปอ่านสิ่งพิมพ์ต่างประเทศหมดมันไม่ใช่ มันขึ้นกับว่าเรื่องนั้นใครเป็นเจ้าของไอเดียใครเป็นต้นตำรับ


มุมสงบแห่งชีวิต


การให้...แค่เพียงคิดจะทำ...ใจก็ยังเป็นสุข...


มือของผู้ให้..อยู่สูงกว่ามือของผู้รับ...
ชื่อของผู้ให้...น่าจดจำกว่าชื่อของผู้ขอ...
เกียรติของผู้ให้...กรุ่นหอมอยู่เหนือกาลสมัย...
ยิ่งกว่าเกียรติศักดิ์ของนักรบและปวงวีรบุรุษ...

การให้...
แค่เพียงคิดจะทำ..ใจก็ยังเป็นสุข...
ครั้นได้ให้แล้ว...จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน...
เมื่อวันเวลาผ่านไป...
หวนกลับไปรำลึกถึงดวงหน้าอันเปี่ยมสุขของผู้รับ...
ความปีติสุขก็ย้อนกลับมาทำให้หัวใจอิ่มเอม...

การให้...
จึงเป็นความสุขแท้ทั้งเวลาก่อนให้...
ขณะที่ให้...
และหลังจากได้ให้ไปแล้ว...

การเสียสละ...แบ่งปัน...
เป็นทั้งความ...สมาน...
คือ...ความสามัคคีปรองดองระหว่างกันและกัน
และเป็นกุศโลบายในการสร้างความ...เสมอ...
คือ...ให้คนทุกคนมองเห็นกัวอกของคนอื่น...
เมื่อมนุษย์รู้จักแบ่งปันแก่กันและกัน...
อันมีพื้นฐานมาจากการมีอัชฌาศัยกว้างขวางเอื้ออารีเช่นนี้
ศานติภาพท่ามกลางความแตกต่างก็จะเกิดมีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก...

หากปราศจากรากฐานอันมั่นคงแข็งแกร่ง
ไหนเลยรูปรอยแห่งมหาวิหารอันโอฬาริก
จะก่อกำเนิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้
บุคคลผู้ยิ่งใหญ่หากสิ้นไร้ซึ่งผู้เสียสละ

ที่อุทิศตนยืนหลบฉากอยู่เบื้องหลัง
คอยส่งกำลังใจ...เสนอความคิด
อุทิศตนเป็นดังอิฐก้อนแรกให้ย่างเหยียบ
ไหนเลยจะเผยอตนขึ้นสู่หอคอยแห่งเกียรติยศได้อย่างทระนง...

คนที่ไม่เคยเป็นผู้ให้...ย่อมยากที่จะได้รับ...
“การให้”..มองอย่างธรรมดาดูเหมือนว่า...เป็นการสูญเสีย...
แต่แท้ที่จริงแล้ว...
ผู้ให้ คือ..ผู้ที่ได้รับต่างหาก...
คนที่เป็นผู้ให้จึงมีเกียรติคุณเกริกกรรจายชั่วฟ้าดินสลาย
ทั้งนี้นั่นเป็นเพราะ “...โลกคารวะผู้ให้... แต่บอดใบ้ต่อผู้กอบโกยและโกงกิน...”



ที่มา : ธรรมะรับอรุณ....ท่าน ว. วชิรเมธี



จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)



การฝึกจิตเป็นความดี
พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า การฝึกจิตที่ข่มยาก ที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ ย่อมเป็นความดี เพราะว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้

จิตที่ข่มยาก หมายความว่า จิตเป็นสิ่งที่บังคับยาก ไม่อยู่ในอำนาจใครง่ายๆ เปรียบเหมือนคนเป็นคนดื้อ ยากแก่การสั่งสอนอบรม

จิตที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ หมายความว่าจิตอ่อนแอ พ่ายแพ้ง่ายต่ออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เมื่อพบเห็นสิ่งใดเป็นที่ต้องตาต้องใจ ก็อ่อนแอตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้น ไม่มีกำลังเข็มแข็งที่จะพิจารณาให้เห็นความควรไม่ควร จึงกล่าว่า จิตเบา หรือจิตอ่อน

แต่ไม่ว่าจิตจะเป็นสิ่งที่บังคับยาก หรืออ่อนแอเพียงไรก็ตาม ผุ้มีปัญญาย่อมสามารถแก้ไขได้ สามารถบังคับจิตตนเองได้ สามารถแก้จิตที่อ่อนให้เป็นจิตที่เข้มแข็งได้ สำคัญที่ว่าต้องมีปัญญาเพียงพอ จึงจะมีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะเอาชนะจิตที่ดื้อ ที่ข่มยาก ที่เบา คืออ่อนแอได้ ปัญญาต้องเพียงพอ ความเข้มแข็งต้องเพียงพอ ต้องทันกับจิต ไม่เช่นนั้นก็จะเอาชนะจิตไม่ได้ จิตก็จะเป็นฝ่ายชนะ

จิตที่ว่าอ่อนแอนั้นมีความอ่อนที่เป็นภัย เพราะอ่อนให้แก่ความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ไม่อ่อนให้แก่ความดีงาม ตรงกันข้ามจิตที่อ่อนจะแข็งกับความดีงามอย่างยิ่ง ต้องให้ความดีงามที่ประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยความเชื่อมั่น ต้องศรัทธาจริงจังว่า การข่มจิตให้ลงอยู่ใต้อำนาจของความดีความถูกต้องนั้นเป็นการดี เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง

พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า การฝึกจิตการข่มจิตเป็นความดี เพราะว่าถ้าทำได้สำเร็จก็จะมีความสุข เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละจสามารถนำสุขมาให้ได้จริง ฝึกจิตข่มจิตได้เพียงใด ก็จะมีความสุขเพียงนั้น

ความจริงมีอยู่ว่า ความสุขของทุกคนไม่ได้เกิดแต่อื่น แต่เกิดแต่จิตของตนเท่านั้น ที่เข้าใจว่าความสุขอยู่ที่นั่นอยู่ที่นี่ ความสุขอยู่ที่คนนั้นอยู่ที่คนนี้ หรือความสุขอยู่ที่สิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นเป็นความเข้าใจผิด

ที่จริงความสุขเกิดแต่จิต ความสุขอยู่ที่จิต ถ้าจิตไม่เป็นสุขแล้ว ผู้ใดอื่น อะไรอื่น ก็หาอาจทำให้เกิดความสุขได้ไม่ เงินทองแม้มากมายมหาศาล ยศฐาบัดาศักดิ์แม้ยิ่งใหญ่ บ้านเรือนตึกรามแม้มโหฬาร วงศ์สกุลแม้สูงส่ง ก็ไม่อาจทำให้เป็นสุขได้ ถ้าใจไม่เป็นสุข ถ้าจิตเป็นทุกข์ คือเร้าร้อนอยู่ด้วยกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ

อารมณ์ที่น่าใคร่ทั้งหลายที่มักจะมีอำนาจเหนือจิตใจที่เบา ที่อ่อน นั่นแหละเป็นเหตุสำคัญแห่งความทุกข์ความร้อนของจิต เมื่อเห็นความจริงนี้แล้ว ก็ย่อมจักยินดีอบรมจิตของตนให้พ้นจากอำนาจของกิเลส ให้เป็นจิตที่อ่อนต่ออำนาจของความดีงาม แต่ให้หนักให้แข็งต่ออำนาจของความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย

เมื่อใดสามารถอบรมจิตได้ ข่มจิตได้ แม้เพียงพอสมควร จึงจิตให้พ้นจากความอ่อนต่อความชั่วร้าย คือสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย แม้เพียงพอสมควร ก็จะได้รู้รสความสุขที่แตกต่างจากความสุขที่เป็นความร้อนเช่นที่พากันเสวยอยู่ พากันคิดอยู่ว่า เป็นความสุขที่พอใจแล้ว

: บุญ เป็นหลักใหญ่ของโลก
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


ขอบคุณข้อมูลจากธรรมจักรดอทเน็ต




ตายแล้วไปไหน ตายแล้วไม่สูญ




“ตายแล้วไปไหน ตายแล้วไม่สูญ”


พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างละเอียดว่า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ทางที่ไปก็มี ๕ สายคือ



๑) อบายภูมิ ได้แก่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์เดรัจฉาน

๒) เกิดเป็นมนุษย์

๓) เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าอยู่บนสวรรค์

๔) เกิดเป็นพรหม

๕) ไปพระนิพพานท่านที่ตายแล้วจะไปเกิดที่ใด

พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกเหตุที่จะไปเกิดไว้ครบถ้วนตามกฎของกรรมคือการกระทำ ได้แก่ความประพฤติดีหรือชั่วในสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เอง กฎของกรรมหรือความประพฤติดีหรือชั่วที่จะพาไปเกิดในที่ใดที่หนึ่ง ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๕ ทางนั้น ท่านว่าไว้อย่างนี้ แดนเกิดสายที่หนึ่ง ที่เรียกว่า อบายภูมิแดนเกิดสายที่หนึ่ง ที่เรียกว่า อบายภูมิ มีนรกเป็นต้นนั้น เป็นผลจากความประพฤติชั่ว คือก่อกรรมทำเข็ญในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ท่านจัดกฎใหญ่ๆ ไว้ ๕ ประการคือ

๑) เป็นคนมีใจโหดร้าย ชอบข่มเหงรังแก เบียดเบียนคนและสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อนโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความดี หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๑

๒) มือไว ชอบลักขโมยของที่เจ้าของยังไม่อนุญาต หรือฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของคนอื่นด้วยเล่ห์กลโกง หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๒

๓) ใจเร็ว ได้แก่มีจิตใจไม่เคารพในความรักของคนอื่น ชอบลอบทำชู้ บุตร ภรรยาและธิดา สามี ของคนอื่นด้วยความมัวเมาในกามคุณ หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๓

๔) พูดปด ได้แก่พูดไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อหวังทำลายประโยชน์ของผู้อื่นโดยเจตนา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๔

๕)ชอบทำตนให้เป็นคนหมดสติ ด้วยการย้อมใจให้หมดความรู้สึกในการรับผิดชอบด้วยนํ้าเมา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๕ กรรม คือความประพฤติในกฎ ๕ ประการนี้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้วไปสู่อบายภูมิมีตกนรกเป็นต้นแดนเกิดสายที่สอง คือเกิดเป็นมนุษย์แดนเกิดสายที่สอง คือเกิดเป็นมนุษย์ ท่านว่าคนที่ตายแล้วจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ต้องมีกรรมบถ ๑๐ หรือที่รู้กันง่ายๆ ก็คือ เป็นคนมีศีล ๕ ประจำได้แก่

๑) เป็นคนมีเมตตาปรานี ไม่รังแกข่มเหง ทำร้ายใครไม่ว่าคนหรือสัตว์ มีความรัก เมตตาปรานีคนและสัตว์เสมอด้วยรักตนเอง

๒) ไม่มือไว คือเคารพสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ยอมถือเอาทรัพย์สินของใครมาเป็นของตน ในเมื่อเจ้าของไม่อนุญาตด้วยความเต็มใจ

๓) ไม่ใจเร็ว ละเมิดความรักในบุตร ธิดา ภรรยา สามีของบุคคลอื่น

๔) ไม่เป็นคนไร้สัจจะ พูดแต่เรื่องที่เป็นสาระตรงต่อความเป็นจริง

๕) ทำตนให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คือเป็นคนมีอารมณ์รับรู้ความดีความชั่วตามกฎของกรรม ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยด้วยน้ำเมาต่างๆท่านที่ทรงความดี ๕ อย่างนี้ได้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้ว มีสิทธิ์กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ได้ แดนเกิดสายที่สาม ได้แก่สวรรค์ แดนเกิดสายที่สาม ได้แก่สวรรค์ อาการที่ทำให้คนเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ ท่านบรรยายไว้มาก แต่เมื่อสรุปกล่าวโดยย่อมี ๒ อย่างคือ

๑) เป็นคนมีความละอายต่อความชั่ว ไม่ยอมทำชั่วในที่ทุกสถาน

๒) เกรงผลของชั่ว จะทำให้เกิดความเดือดร้อนเหตุ ๒ ประการนี้ เป็นผลทำให้ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้า แดนเกิดสายที่สี่ ได้แก่พรหมโลก แดนเกิดสายที่สี่ ได้แก่พรหมโลก พรหมกับเทวดามีดินแดนที่เกิดเป็นคนละแดนกัน พรหมท่านว่าศักดิ์ศรีดีกว่าเทวดาและมีชั้นภูมิสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า มีความสุขดีกว่า ความสวยสดงดงามก็ดีกว่าเทวดา แต่พรหมไม่มีเพศคือไม่มีเพศหญิงเพศชาย ทั้งนี้เพราะพรหมไม่มีการครองคู่ อยู่โดดเดี่ยวอย่างพระสงฆ์ตามวัดคือไม่มีภรรยาสามี ท่านว่ามีความสุขสงบสงัด ท่านที่จะเป็นพรหมได้ท่านว่าต้องเป็นนักกรรมฐานและมีอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย อารมณ์จิตเป็นฌานที่เรียกว่า เข้าฌานตาย แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่พระนิพพาน แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่พระนิพพาน แดนนี้เป็นเขตที่รู้เรื่องกันยากมาก เพราะนักปราชญ์สมัยนี้ถือว่า “นิพพานสูญ” กันเป็นประเพณีไปแล้ว ขอบอกไว้ย่อๆ ว่าคนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้นต้องมีความบริสุทธิ์ ๑๐ อย่างคือ

๑) ไม่เมาในตนเองหรือวัตถุต่างๆ ที่คิดว่าเป็นสมบัติของตน รู้สึกเสมอว่าจะต้องตายและพลัดพรากจากของรักของชอบใจแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะมาห้ามความตายและความพลัดพรากได้ ทำจิตใจเป็นปกติเมื่อความตายมาถึงหรือเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก

๒) ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าสิ่งที่มีชีวิตต้องทำลายตนเองลงในเมื่อกาลเวลามาถึง ไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติอยู่ได้ ใครทำความดี ความดีก็คุ้มครองให้มีความสุขใจ ใครทำชั่ว ความชั่วจะบันดาลความเดือดร้อนให้ แม้ผู้อื่นยังไม่ลงโทษ ตนเองก็มีความหวาดสะดุ้งเป็นปกติ

๓) รักษาศีลมั่นคง ดำรงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ

๔) ทำลายความใคร่ในกามารมณ์ให้สิ้นไปจากใจ ด้วยอำนาจความรู้ถึงความจริง รู้ว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภัยอันตรายที่มีขึ้นแก่ตนเพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ

๕) มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตาปรานี ไม่โกรธไม่จองล้างจองผลาญคิดทำอันตรายใคร ไม่ว่าใครจะแสดงอาการอย่างไร จิตก็ไม่คลายจากความเมตตา

๖) ไม่มัวเมาในรูปฌาน โดยคิดว่าการที่ตนทรงรูปฌานได้นี้ เป็นผู้ถึงที่สุดของความดี เมาฌานจนไม่สนใจความดีที่ตนยังไม่ได้

๗) ไม่มัวเมาในอรูปฌาน โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นทางสิ้นทุกข์

๘) มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่คิดถึงเรื่องอารมณ์เหลวไหล มีจิตใจเต็มไปด้วยความหวังดี ไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

๙) ไม่ถือตน ทะนงตน ว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร มีอารมณ์ใจเป็นปกติ เห็นคน สัตว์ ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของธรรมดาที่จะต้องตายจะต้องสลายไป และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวเมื่อเข้าสังคมสมาคมใดๆ มีอาการเป็นเสมือนว่าสังคมนั้น สมาคมนั้นๆ เป็นกลุ่มของคนที่ต้องตาย ไม่ทำตัวใหญ่หรือเล็กจนน่าเกลียด ทำตนพอเหมาะพอสมควรแก่สมาคมนั้นๆ เรื่องของเขา เขาจะดีจะชั่วก็ตัวของเขา เราช่วยได้เราก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็เฉยไว้ ไม่สนใจที่จะไปเบ่งบารมีทับใคร
๑๐) ตัดความรักความพอใจในโลกีย์วิสัยให้หมด งดอารมณ์อยากดีอยากเด่น ทำอารมณ์เป็นพระพุทธในพระอุโบสถ พระพุทธท่านยิ้มเสมอ ท่านที่จะถึงพระนิพพานต้องยิ้มได้อย่างพระพุทธ ใครจะดีจะชั่วก็ยิ้ม เพราะเห็นเป็นของธรรมดามันหนีไม่ได้ไล่ไม่พ้น เมื่อยังมีตัวตนเป็นคนมันก็ต้องพบอาการอย่างนี้อยู่ ก็สบายใจ ความตายจะมาถึงก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย มีอารมณ์ใจปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพันทรัพย์สินหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้

แล้วคุณล่ะเลือกไปแดนเกิดสายไหน?




ที่มา www.powerproject.com