วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บทสัมภาษณ์อาจารย์ศรีหทัย ใหม่มงคล



บทสัมภาษณ์อาจารย์ศรีหทัย ใหม่มงคล หัวหน้าภาควิชาสารสนเทศศึกษา

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหัวข้อหนังสือและบรรณาธิการ


จุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของอาจารย์เริ่มต้นเมื่อไหร่คะ

- เริ่มตั้งแต่เด็กค่ะ ครูก็จำไม่ได้ว่า ป. ไหน น่าจะตอนอ่านออกเขียนได้น่าจะอยู่สัก ป.3 ป.4
เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ ป.3 ป.4 เลย เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ

ตอนนั้นอาจารย์ชอบอ่านหนังสือประเภทไหนคะ
- ด้วยความที่ครูเป็นเด็กบ้านนอกนะคะ สิ่งที่ครูอ่านก็จะเป็นประมาณถุงกล้วยแขกไรงี้ค่ะ หนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่เค้าห่อโน่นห่อนี่มาที่บ้าน คือเริ่มอ่านเล็กๆน้อยๆ เพราะว่ายังไม่มีโอกาสแบบได้สัมผัสหนังสือที่มันเป็นตัวเล่มจริงๆ แล้วก็เริ่มที่จะเข้าสู่วงการหนังสือจริงๆ ก็ตอนเข้ามัธยมค่ะ มัธยมหนึ่งก็เริ่มอ่าน
เริ่มเลือกหนังสือเป็นแล้ว ค่ะเริ่มเป็น เพราะว่าเริ่มตั้งแต่เข้าไปเป็นสมาชิกของชมรมห้องสมุดมั้งคะ แล้วก็เริ่มรักหนังสือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หนังสือที่อาจารย์อ่านแล้วมีความประทับใจมีหนังสืออะไรบ้างคะ
- เยอะมากค่ะ ที่ยังติดใจไม่รู้หายก็น่าจะเป็นปาฏิหาริย์รัก ของจีรนันท์ พิตรปรีชาหนึ่งเล่ม แล้วก็เจ้าชายน้อย แมงมุมเพื่อนรัก แล้วก็ถ้าเป็นหนังสือสมัยครูเด็กก็ของทมยันตีค่ะ และเงาเป็นนิยาย

หนังสือที่อาจารย์ชอบอ่านในวัยเด็กกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันไหมคะ
- ตอนเด็กนี่จะชอบนิยาย ชอบของหนักๆ ทมยันตี โสภาค สุวรรณ แต่ที่ชอบเหมือนตั้งแต่เด็กมาจนถึงแก่ คือ ครูจะชอบวรรณกรรมเด็ก จะอ่านได้ทุกทีแล้วก็จะมีจินตนาการตามไปทุกทีไม่เคยเปลี่ยน
ปัจจุบันก็ยังอ่านอยู่ แล้วก็อ่านตลอด นางนวลกับมวลแมวก็เป็นเล่มล่าสุดที่อ่านไป แล้วก็วางไม่ลงแล้วก็อ่านไม่รู้กี่รอบ ส่วนอะไรบ้างที่เปลี่ยนไปจากเด็กน่าจะเป็นเราเริ่มอ่านอะไรหนักๆ เราเริ่มอ่านอะไรที่เป็นแนววิเคราะห์มากยิ่งขึ้น เป็นการอ่านแล้วไม่ได้คิดตามเพียงอย่างเดียว อ่านแล้วคิดว่าเค้าพูดอย่างนี้ใช่รึเปล่า จะอ่านพวกวิเคราะห์มาก อ่านพวกสารคดีอะไรที่ไม่อยากอ่านก็ต้องถูกบังคับให้อ่าน อย่างเช่นสังคมมันบังให้เราอ่านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจซึ่งครูไม่ชอบเลย ไม่ชอบแต่ก็ต้องอ่าน อ่านเพื่ออัพเดทตัวเอง เพื่อให้รู้ทันว่าตอนนี้เขาไปถึงไหน เราจะเตรียมความพร้อมอะไร อย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือหนังสือที่จะต้องเตรียมสอนพวกหนู ต้องอ่านอะไรต่อมิอะไรเยอะมาก

การอ่านหนังสือเรียนกับหนังสือนอกเวลาอาจารย์ให้เวลากับการอ่านหนังสือประเภทไหนมากน้อยกว่ากัน
- ครูจะให้เวลากับหนังสือที่อ่านเล่นๆ มากกว่าหนังสือเรียน เพราะว่าครูคิดว่าครูเป็นเด็กความจำดี เป็นเด็กเก่ง ครูก็เลยตั้งใจเรียนในห้องเรียนแล้วก็อ่านแล้วก็จำตอนนั้น ส่วนที่เหลืออื่นๆ ครูไปอ่านแล้วก็เอามาประกอบกับสิ่งที่เรียน มันก็เลยค่อนข้างที่จะไปด้วยกันได้ แต่หนังสือเรียนไม่ค่อยอ่านค่ะ มีความรู้สึกว่าเราถูกบังคับตอนเรียนแล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้เวลากับหนังสืออื่นมากเป็นพิเศษ

หนังสือนอกเวลาเช่นแมงมุมเพื่อนรัก อาจารย์อ่านได้จากที่ไหน ห้องสมุดโรงเรียนหรือซื้ออ่านเองคะ
- ห้องสมุดโรงเรียนค่ะ สมัยนั้นมันไม่ได้เป็นหนังสือนอกเวลาของครูเสียด้วยซ้ำ หนังสือนอกเวลาของครูพวกหนูคงไม่รู้จัก เรื่องหนักๆ จำไม่ได้แล้วเยอะมาก ตั้งแต่อดีต แต่เล่มนี้เจอในห้องสมุด

วิธีการเลือกอ่านหนังสือของอาจารย์มีหลักในการพิจารณายังไงคะ หนังสือหน้าปกสวย ชื่อเรื่อง หรือที่ผู้แต่ง สำนักพิมพ์
- ครูจะไม่ค่อยสนใจนักเขียน เพราะครูมีความรู้สึกว่าในบางเรื่องบางโอกาสเราน่าจะให้โอกาสนักเขียนหน้าใหม่ๆ แต่ถามว่าสำนักพิมพ์ว่าสนใจไหม สนใจในบางครั้ง เช่น พอพูดถึงสำนักพิมพ์ซีเอ็ดอาจนึกถึงหนังสือที่เป็นวิชาการ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผีเสื้อก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่จริงๆแล้วจะสนใจตัวที่เป็นเอกสารมากกว่าว่ามันพูดถึงอะไร ชื่อเรื่องสะดุดใจ หน้าปกค่ะมีผลค่ะ หน้าปกถ้ามันทำให้ดึงดูดใจก็โอเค ถึงแม้นักเขียนจะโนเนม แต่สำนักพิมพ์น่าจะมาก่อนสำหรับครู นักเขียนยังไม่เท่าไหร่

เมื่ออาจารย์อ่านหนังสือจบแล้ว หนังสือที่ชอบและรู้สึกประทับใจและมีแนะนำให้เพื่อนอ่านด้วยไหมคะ
- มีค่ะมี ปาฏิหาริย์รัก ครูเป็นคนที่ชอบงานเขียนของจีรนันท์ พิตรปรีชา อะไรที่จะมีคุณค่าก็จะแนะนำให้อ่านอย่างเช่น หนังสือเล่มหนึ่งของจีรนันท์ พิตรปรีชาที่ครูชอบ คือ ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ อ่านแล้วยังได้รู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ เรื่องของการเมืองไทยในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ทำให้ได้อะไรเยอะ เยอะไปกว่าสิ่งที่เขาเขียนในเชิงสารคดี เราย้อนกลับไปถึงระบบการเมือง ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ในสมัยนั้นมากยิ่งขึ้น

อาจารย์แนะนำแล้วเขาไปอ่านรึเปล่าคะ
- ครูไม่แน่ใจ เพราะรสนิยมครูกับของเพื่อนๆ จะต่างกัน ครูชอบอ่านอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ แต่จำได้ว่าเล่มหนึ่งที่ครูแนะนำเพื่อนไปแล้วเขารู้สึกชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกันก็คือ เรื่องปาฏิหาริย์ แล้วก็ล่าสุดได้บอกเรื่องของนางนวลกับมวลแมว แต่ก็ไม่ได้คุยกันว่าได้อ่านหรือเปล่า

มีใครที่อ่านหนังสือแล้วประทับใจและแนะนำให้อาจารย์ไปอ่านบ้างไหมคะ
- มีค่ะมีเยอะ เพื่อนครูสองสามคนเป็นหนอนหนังสือมาก เป็นยิ่งกว่าครูอีก คนหนึ่งเป็นนักเขียนค่ะ อาจารย์อุไรวรรณ จิตเป็นธม ที่เขียนเรื่องพระจันทร์คงรู้สินะ เป็นวรรณกรรมเด็กของเกาหลี

ในทัศนะคติของอาจารย์ อาจารย์คิดว่าการเลือกหนังสืออ่านระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันไหมคะ
- ครูมองว่ายังไงก็ตามผู้หญิงละเอียดอ่อนกว่า ผู้หญิงเรายังใส่ใจเรื่องของหน้าปก สี ชื่อเรื่อง เรื่องของรูปแบบ การออกแบบ เรื่องของของแถมที่สำคัญ ในส่วนผู้ชายครูคิดว่าเขาคงไม่สนใจอะไรนอกจากเรื่องที่มันโดนจริงๆ เขาอ่านคำนำก็ตกลงเรื่องนี้ แล้วก็ซื้อ ส่วนผู้หญิงคิดว่ารายละเอียดน่าจะเยอะกว่า

ตอนเด็กๆ อาจารย์ใฝ่ฝันอยากเป็นอะไรคะ
- ตามสไตล์ไม่ครูก็นางพยาบาล มีสองอย่าง

ทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
- ต้องบอกว่าเป็นความผิดพลาด ตอนที่ครูสอบ ครูให้เพื่อนเลือกให้แล้วบอกเพื่อนว่าเอาภาษาอังกฤษ ด้วยความที่เป็นคนขี้เกียจ แล้วก็ยังคิดว่าตัวเองก็ยังเลือกภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีและอีกอย่างหนึ่งจำไม่ได้
แล้วตอนประกาศผลก็รู้ว่าติด แต่ก็ยังดีใจว่าติดภาษาอังกฤษ ไปถามเพื่อนว่าทำไมเลือกบรรณารักษ์ให้ เพื่อบอกว่าก็เห็นเธอชอบอ่านหนังสือ เธอจะชอบเป็นบรรณารักษ์ ซึ่งคิดว่าเป็นความผิดพลาดตอนนั้น แต่ทำไปทำมาก็รู้สึกดีที่อยู่ในวงการนี้(บรรณารักษ์) รู้สึกผิดพลาดตอนเรียน จบมาแล้วมันยิ่งกว่าอื่นใด มันเป็นกำไรชีวิตมากๆ

อาจารย์ทำงานสอนมากี่ปีแล้วคะ
- 8 ปีโดยประมาณ

อาจารย์เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยอะไรคะ
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งสองปริญญาเลย ปริญญาตรีกับปริญญาเอก สาขาเดียวกัน คือ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

อาจารย์มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบูรพาได้อย่างไรคะ
- อยากเปลี่ยนค่ะ ครูมีความรู้สึกว่าชีวิตครูมันน่าจะไปไกลกว่านี้ มีความรู้สึกว่ามันเบื่อ ตอนนั้นครูสอนที่
ราชภัฏภูเก็ตมันมีชนชั้นวรรณะ การทำงานมันไม่ค่อยสะดวกไม่ค่อยราบรื่น และที่สำคัญ คือ ห้องสมุดมันมีงบ มีอะไรน้อยมาก ไม่น่าจะพอสำหรับครูที่จะเตรียมการสอน ครูก็เลยลองดูมหาวิทยาลัยที่มีอะไรแปลกใหม่ ก็เลยเลือกเอง มาอย่างไม่มีเส้นมีสายที่มหาวิทยาลัยบูรพาแล้วก็ได้ทำงาน

อาจารย์มีครอบครัวรึยังคะ
- มีแล้วค่ะ ไม่มีลูก

ครอบครัวอาจารย์นี่รักการอ่านตั้งแต่ คุณพ่อ คุณแม่หรือเปล่าคะ
- ครอบครัวครูเป็นเกษตรกร ก็โอกาสที่จะอ่านน้อยมาก น้อยมากจริงๆ แค่หนังสือพิมพ์ก็หรูแล้ว อย่างที่ครูบอกตั้งแต่แรกการอ่านมาจากตัวครูเองจริงๆ เริ่มต้นด้วยความที่จากตัวครูเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นทุกอย่าง เหมือนอย่างที่บอกถุงกล้วยแขก ยันเมื่อก่อนกระดาษห่อผ้าอนามัย พอแต่งงาน แฟนครูก็อ่านค่ะ เขาค่อนข้างอ่านอะไรที่หนัก เพราะรสนิยมเขาคล้ายๆ ครู ก็คือชอบเรื่องของประวัติศาสตร์ ชอบเรื่องของสารคดี ในแนวเรื่องของชีวิต แต่การเมืองไม่ค่อยเท่าไหร่ แล้วก็เขาเริ่มอ่านอะไรหนักๆ และมาแนะนำครู ครูก็อ่านได้จากภาษาไทยก่อน จากนั้นเราได้จากภาษาไทยแล้วก็ไปอ่านต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษจริงๆ อย่างล่าสุดเล่มที่เขาซื้อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวที่หนังสือเขาเขียนมาว่า เมื่อก่อนเราเคยเชื่อว่าโคลัมบัสเป็นคนค้นพบโลก แต่หนังสือเล่มนั้นเขาเชื่อว่าคนจีนต่างหากที่เป็นคนค้นพบโลก 1421 คือปีที่คนจีนค้นพบ แต่ในขณะที่โคลัมบัสค้นพบโลกประมาณปี 1471 ครูก็อ่านจากเล่มภาษาไทยที่สำนักพิมพ์มติชนแปลออกมา มีความรู้สึกว่าของเขาน่าเชื่อถือเหมือนกัน การอ้างอิงทุกอย่างเลย เรื่องราวแม้กระทั่งการไปค้นพบดีเอ็นเอ ไปค้นพบการที่คนจีนไปอาศัยอยู่หลายๆ ที่ หลังจากนั้นพออ่านภาษาไทยเสร็จแล้วก็ไปอ่านภาษาอังกฤษก็เข้าใจอะไรยิ่งขึ้น สรุปคือ รักการอ่านแล้วก็อ่านอะไรหนักๆ

อาจารย์ใช้เวลาในการอ่านหนังสือต่อวันใช้เวลานานไหมคะ
- ต้องดูจังหวะค่ะ อย่างเช่น เป็นจังหวะช่วงปิดเทอม ช่วงเตรียมสอน ช่วงสอบก็จะลดน้อยถอยลงไป ถ้าเป็นช่วงปกตินี่ก็จะเป็น 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันแน่นอน แต่บางวันก็อ่านทั้งวันเลย

ปัจจุบันอาจารย์หาหนังสืออ่านจากที่ไหนคะ
- คละกันไปค่ะ ซื้อเองเป็นส่วนใหญ่ ห้องสมุดก็ไปบ้าง ร้านหนังสือก็ไปบ่อย ไปอ่านๆ แล้วก็ไป แต่ส่วนมากซื้อค่ะ แต่จะซื้อเฉพาะหนังสือที่คิดว่ามันโดนใจจริงๆ ถึงจะซื้อและอยากเก็บเอาไว้ แต่หนังสือที่ครูซื้อแล้วเล่มไหนที่ครูเปิดอ่านแค่หน้าแรกแล้วคิดว่าไม่ใช่ก็จะไม่อ่านอีกเลย

แล้วทำอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้นคะ
- เก็บเอาไว้ดู แล้วก็ไปเล่าให้เพื่อนฟัง ว่าเคยคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอย่างนี้ หนังสือเดอะซีเคร็ต ที่คุณจีรนันท์ พิตรปรีชา เป็นผู้แปล อ่านแล้วมีความรู้สึกว่ามันมีความเป็นปรัชญามากเกินไป ครูก็อ่านได้สองสามหน้าแล้วก็วางและไม่อ่านอีกเลย

อาจารย์ชอบอ่านวรรณกรรมแปลมากกว่าที่คนไทยเขียนหรือเปล่าคะ
- ไม่ค่ะ วรรณกรรมแปลที่เน้น จะเน้นไปที่เรื่องของวรรณกรรมเด็กซะส่วนใหญ่ และสารคดีที่เน้นไปในทางสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ ถึงจะอ่าน แต่ถามว่าระหว่างไทยกับวรรณกรรมแปล ครูจะอ่านวรรณกรรมไทยมากกว่า

อาจารย์เคยคิดอยากเป็นนักเขียนไหมคะ
- ไม่เคยค่ะ เพราะว่ายากมากการเป็นนักเขียน แต่ถ้าจะให้ครูเขียนเล่นๆ นั้นได้ ถ้าให้เป็นนักเขียนจริงๆ ยังไม่ได้จริงๆ บทความในวารสารนั้นได้ แต่เป็นนักเขียน เรื่องใหญ่มาก

เวลาอาจารย์อ่านหนังสือแล้วพบข้อบกพร่องในหนังสืออาจารย์ความคิดเหนอย่างไรบ้างคะ
- ครูเสียใจ ข้อบกพร่องในที่นี้หนูจะหมายถึงคำผิดรึเปล่าคะ หรือว่าให้ข้อมูลผิดพลาด ก็รู้สึกเสียใจ และคิดว่าจะจำคนเขียนเอาไว้ จำสำนักพิมพ์เอาไว้ แล้วจะไม่ซื้อของเธออีกเลย

อาจารย์จะเพ่งเล็งไปที่ทางด้านสำนักพิมพ์ นักเขียน หรือบรรณาธิการรึเปล่าคะ
- ครูจะโทษสองอย่างค่ะ บรรณาธิการกับสำนักพิมพ์ สองอย่างเต็มๆ นักเขียนก็ไม่เท่าไหร่ เพราะคิดว่ามันต้องมีข้อผิดพลาดกันได้บ้าง แต่ต้องมีคนช่วย ในเมื่อจะกลั่นกรองมาเป็นหนังสือแล้ว น่าจะมีใครที่จะมาช่วยอีกทีหนึ่ง

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการมีความสำคัญกับหนังสืออย่างไรบ้างคะ
- ครูว่ามันเป็นหัวใจของหนังสือค่ะ เหมือนนักเรียนถ้าไม่มีครู หรือถ้านักการเมืองไม่มีใครมาตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง เรื่องของคุณภาพ มาตรฐานมันก็จะลดน้อยลงไปเยอะ คิดว่ามันคือหัวใจของหนังสือ

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไรคะ
- ครูมองหนึ่งต้องมีจินตนาการค่ะ เช่น เราอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่ได้ เราจะไปอ่าน 1421 ไม่ได้ เราจะไปอ่านแมงมุมเพื่อนรักก็ไม่ได้ ดังนั้นจินตนาการในที่นี้มันต้องหลากหลาย จะบอกว่าหลากหลายสาขา อย่างเช่นอ่านเรื่องไหนก็ต้องมีจินตนาการเรื่องนั้น จินตนาการไม่พอยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ใครก็ตามที่มีจินตนาการมักจะมีความคิดสร้างสรรค์ตามมา มีเรื่องของการใช้ภาษา การใช้ภาษาที่ต้องสุดยอดกว่านักเขียน ต้องรู้ว่าคำไหนที่ต้องใช้ในประโยคที่ต้องมีคำบรรดาศักดิ์สูงกว่า มีศักดิ์ต่ำกว่า คำไหนที่จะใช้ในบริบทนี้แล้วมันจะกินใจขนาดนั้น ก็ต้องช่วยนักเขียนแล้วก็ต้องทำงานร่วมกัน อีกข้อหนึ่งครูมองว่าเขาต้องเป็นคนที่ไม่มีอัตตา หมายความว่าเขาจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเขียนด้วย สมมุติครูเขียนประโยคหนึ่งแล้วครูใช้ประโยคนี้มันต้องมีที่มาและต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องใช้คำนี้ บางทีรสนิยมของการใช้คำหรือความคิดของนักเขียนกับบรรณาธิการมันอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องจูนให้เข้ากันให้ได้ว่าส่วนหนึ่งเราต้องเคารพนักเขียนด้วยในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของไอเดีย เรื่องของสมาธิ ครูว่าสำคัญมากๆ ต้องเป็นคนที่ใจรักแล้วก็มีสมาธิที่จะทำงานไม่ใช่แวบหนึ่งก็ออกแวบหนึ่งก็นั่น สิ่งสำคัญน่าจะเป็นคุณธรรม จริยธรรม แต่ครูไม่เคยเห็น เคยได้ยินว่ามีบรรณาธิการคนไหนที่จะเอาเรื่องของคนนั้น คนนี้ไปดัดแปลงเป็นของตัวเอง ในบ้านเรายังไม่มี เรื่องของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนักเขียน แม้กระทั่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเจ้าของสำนักพิมพ์ซึ่งว่าจ้างตัวเองมา แล้วเรื่องของการเคารพสิทธิทางปัญญาของคนอื่นเราต้องรู้ เราต้องรู้กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหายทรัพย์สินทางปัญญา พวกอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารสารสนเทศคิดว่าสำคัญเหมือนกัน

ตอนเด็กๆ อาจารย์รู้จักไหมคะว่าบรรณาธิการคืออะไร
- ไม่รู้จักค่ะ ไม่รู้จักเลยว่าบรรณาธิการคืออะไร เคยอยู่ในความคิด เริ่มมารู้จักบรรณาธิการน่าจะอยู่ตอน ม.4-6 มั้งคะ เพราะว่าตอนนั้นเริ่มเรียนสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์นี่ก็จะมีกองบรรณาธิการอะไรว่าไปเยอะแยะ ตอนนั้นเราเริ่มรู้แล้วว่าบรรณาธิการคือคนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนที่ผลิตออกมาเพื่อไปตรวจสอบภาษาที่เข้าใจในตอนแรก และเพิ่งจะมารู้จักคำว่าบรรณาธิการจริงๆ ก็ตอนที่มาทำหลักสูตรของภาควิชาถึงรู้ว่าเป็นอย่างนี้ บ้านเราก็มีด้วยหรือบรรณาธิการซึ่งปกติจะไม่ค่อยเห็นหรอกค่ะ ความจริงเราเคยเห็นไหมเวลาเราเปิดหนังสือไม่ค่อยมีหรอกว่าคนนี้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ใช่ไหมคะ ซึ่งถามว่ามันจำเป็นไหม มันก็จำเป็นเหมือนกัน เหมือนกับไตเติ้ลหนัง ถ้าสตีเว่น สปีลเบิร์กเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้มันจะต้องยอดเยี่ยม เหมือนกันหนังสือมันน่าจะมีว่าใครเป็นบรรณาธิการ แต่ตอนนี้ครูเริ่มดูแล้วว่าหนังสืออะไร เล่มไหนที่มีชื่อบรรณาธิการก็ค่อนข้างจะน่าเชื่อถือได้ว่ามันมีคุณค่า มันมีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่ง

อาจารย์คิดว่าสำคัญไหมคะที่บรรณาธิการต้องอ่านหนังสือหลากหลายสาขา
- สำคัญค่ะ สำคัญมากๆเลย เพราะว่าบรรณาธิการจะต้องอ่านแล้วก็เลือกนักเขียนมาตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ของเรา เช่นสำนักพิมพ์มติชนอย่างนี้นะคะ เขาเขียนได้หลากหลายก็ต้องเขียนได้หลากหลาย อย่างเรื่องประวัติศาสตร์เรื่องของการเมืองทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของการวิเคราะห์วิจารณ์ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งเรื่องราวในอดีตทั้งหลายทุกอย่างมันต้องโยงเกี่ยวกันหมดเลย ถ้าถามว่านักเขียนเราจะเน้นเรื่องบูรณาการ ที่ครูยกตัวอย่าง 1421 ต้องโยงกันไปหมดเลยทั้งเรื่องการเมืองในยุคนั้น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแผนที่ ภูมิศาสตร์ก็เกี่ยว ถามว่าคนที่เป็นบรรณาธิการจำเป็นจะต้องรู้เรื่องนี้ไหม ต้องรู้ รู้ลึกและรู้เยอะมันคือเหตุผล และถามว่าอ่านเยอะไหม ถ้าหนูไม่อ่านหนังสือหนูจะรู้สึกยังไงคะ พูดถึงอย่างง่ายๆ ที่หนูบอกว่าหนูต้องอ่านลิลิตตะเลงพ่าย หนูรู้จักลิลิตตะเลงพ่ายจากอะไรบ้าง วรรณคดี ถ้าหนูอยากรู้จักลิลิตตะเลงพ่ายจะรู้จักจากอะไรได้บ้าง หนูจะไปแตะวรรณคดีเลยรึเปล่า ไม่ใช่ไหมคะ เพราะน่าเบื่อ หนูต้องไปอ่านอะไรที่เกี่ยวข้องกับลิลิตตะเลงพ่าย อ่านในสิ่งที่เขาวิเคราะห์ อ่านเรื่องราวที่เขาเขียนสรุปโดยย่อ หรืออ่านเรื่องของบทประพันธ์ เรื่องของการวิจารณ์วรรณศิลป์ วรรณวิจักรอะไรอย่างนี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมบรรณาธิการจะต้องรู้อะไรเยอะแยะมากมาย การที่เราจะทำความรู้จักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันต้องอ่านจากหลายแหล่ง

อาจารย์คิดว่าบรรณาธิการต้องแสวงหาอ่านหนังสือต่างประเทศหรือหนังสือแปลไหมคะ
- มันขึ้นอยู่กับว่าเรื่องราวที่หนูเชี่ยวชาญหรือหนูจะจับอย่างเช่น ถ้าหนูจะเป็นบรรณาธิการให้กับสำนักพิมพ์สักสำนักพิมพ์หนึ่งหนูต้องดูว่าสำนักพิมพ์นั้นเขาเล่นเรื่องอะไรบ้าง เขาถนัดเรื่องอะไรบ้าง แล้วเขาไปสายไหนบ้าง สายบางสายอาจจะเจาะลึกไปถึงเรื่องราวของต่างประเทศได้ด้วย เช่น สำนักพิมพ์มติชนเขาทำเรื่องของการเมือง สมมุติว่าใครจะเขียนเรื่องเลือกตั้งสักอย่างหนึ่ง ถามว่าตอนนี้อเมริกากำลังเลือกตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจำเป็นจะต้องรู้ไหม รู้ ถามว่าเขาต้องอ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็เขียนด้วยเรื่องอเมริกาอย่างเดียวไหม ไม่ เขาต้องไปอ่านบทวิเคราะห์ทั้งหลายที่เขียนถึงเรื่องราวนั้นแล้วเขาต้องตีให้แตกว่าฝรั่งตัวของเจ้าบ้านเองเขาคิดอย่างนี้แล้วเราคิดยังไง แต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องไปอ่านสิ่งพิมพ์ต่างประเทศหมดมันไม่ใช่ มันขึ้นกับว่าเรื่องนั้นใครเป็นเจ้าของไอเดียใครเป็นต้นตำรับ


ไม่มีความคิดเห็น: