วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความสำคัญของบรรณาธิการ



ความสำคัญของบรรณาธิการ


งานบรรณาธิการเป็นงานอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านบรรณาธิการมาใช้ในการทำงาน เพื่อกระบวนการจัดทำหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่น จนผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐาน
การจัดพิมพ์หนังสือเป็นศาสตร์สากล แม้เกิดขึ้นในเบื้องแรกทางซีกโลกตะวันออก คือ ประเทศจีน ประมาณปี ค.ศ. 868 แต่วิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือหรือการผลิตหนังสือเล่มที่เก่าหลับเกิดขึ้นที่ซีกโลกตะวันตกตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นต้นมา และมีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
วิธีการและแนวปฏิบัติในการทำหนังสือเล่ม มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามนิยม จนเกิดเป็นระบบการจัดทำหรือการผลิตหนังสือตามมาตรฐานขึ้น โดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางประการ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบการจักทำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในเอเชีย ที่มีการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น
การพิมพ์และการผลิตหนังสือในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบนิตยสาร วารสาร และหนังสือเป็นเล่ม พัฒนาการการพิมพ์และการจัดทำหนังสือในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดโดยเฉพาะระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านระบบการพิมพ์ และการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่ก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศใดในแถบเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น
แต่ว่าการพัฒนาด้านการจัดทำหนังสือ ในแง่ของการเขียนเนื้อหาสาระและการเปลี่ยนสภาพต้นฉบับงานเขียน ให้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือที่น่าอ่านตามมาตรฐานสากลนิยมปฏิบัติ หรือพูดในภาษาวิชาการว่า”การบรรณาธิการ” นั้น กล่าวได้ว่า แทบไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในการปฏิบัติในสำนักพิมพ์ หรือในการศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในขณะที่การจักพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน หรือการจัดทำนิตยสาร วารสาร มีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาและออกมาปฏิบัติงาน สืบทอดวัฒนธรรมการทำหนังสือพิมพ์ตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน การจัดทำหนังสือยังไม่มีบุคลากรมืออาชีพ หรือบรรณาธิการมืออาชีพมาสืบสานวัฒนธรรมการผลิตหนังสือเล่มให้เห็นอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้รักหนังสือ เรียนรู้จากการปฏิบัติตามๆ กันมา หรือได้รับการอบรมเบื้องต้นมาบ้างจากสถานศึกษา แต่เมื่อต้องมาปฏิบัติงานอย่างจริงจัง จึงเกิดความไม่แน่ใจ ลังเล อีกทั้งยังขาดหนังสือที่ใช้เป็นคู่มือปฏิบัติงานบรรณาธิการด้วย จึงนับว่าสถานภาพของผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่ม จึงเหมือนยืนอยู่บนสะพานที่ง่อนแง่นจวนเจียนตกเหวอยู่


บรรณาธิการ
ราชบัณทิตสถาน (2538,หน้า 461)ให้คำนิยามไว้ว่า บรรณาธิการ คือ ผู้จัดเลือกแฟ้น รวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้ง หรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับงานชิ้นนั้น
หัวใจของบรรณาธิการคือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ต้นฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ
ในขั้นตอนก่อนการพิมพ์ บรรณาธิการ จะเป็นบุคคลสำคัญมากในการกำหนดรูปแบบ พิจารณาเนื้อหา เลือกกระดาษ ระบบการพิมพ์ และกำหนดรูปเล่มของหนังสือตลอดจนราคา บรรณาธิการจึงต้องทำงานประสานหลายกลุ่มคน ต้องตื่นตัวอยู่เสมอและติดตามในทุกๆเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่แวดล้อม ต้องมองและต้องรู้ก่อนผู้อ่าน ต้องวินิจฉัยได้ก่อนผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นผู้ชี้ให้รู้เหตุรู้ผล บรรณาธิการจะต้องรู้จักนักเขียนดี




ขั้นตอนและวงจรงานของบรรณาธิการอาจลำดับได้ดังนี้

1. การวางแผนการทำงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ การแบ่งงาน การกำหนดผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา ประมาณการค่าใช้จ่าย การคาดคะเนผล
2. การจัดหาต้นฉบับ บรรณาธิการมีหน้าที่เสาะหาต้นฉบับที่มีข้อมูลถูกต้อง บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงแหล่งที่ดี สื่อความได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินอารมณ์ ผู้อ่านได้รับความรู้และอยากเรียนรู้ต่อไป
3. การรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเนื้อหามีความซับซ้อน หรือมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วง ทั้งในวิชาการหรือทางกฎหมาย
4. การทำความตกลงกับผู้เขียน กรณีมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจะรัดกุมกว่าด้วยวาจา ส่วนหนึ่งอาจนำไปสู่การทำสัญญาต่อไป งานด้านนี้อาจต้องมีนิติกรร่วมด้วย
5. การจัดทำแฟ้มต้นฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ เช่น การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการ ข้อตกลง สัญญา ข้อมูล เนื้อหา ภาพ หลักฐานอ้างอิงที่ค้นเพิ่มเติมระหว่างการตรวจแก้ต้นฉบับ
6. ประมาณการและกำหนดรูปเล่ม ในด้านความยาวของเนื้อหา ขนาดรูปเล่ม ตัวพิมพ์ การวางรูปหน้ากระดาษ
7. การอ่านตรวจต้นฉบับอย่างละเอียด เรียกตา ศัพท์บัญญัติว่า การบรรณาธิกรต้นฉบับโดยใช้คู่มือตรวจตามแบบเฉพาะของสำนักพิมพ์เอง หรือ แบบเฉพาะอื่นๆเพื่อตรวจแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง ทั้งด้านเนื้อหาและส่วนประกอบ ความต่อเนื่องของเนื้อหา ระบบการจัดโครงสร้างเนื้อหา การอ้างอิง รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
8. การแจ้งให้ผู้เขียนรับรู้การแก้ไขต้นฉบับ การแก้ไขต้นฉบับขึ้นอยู่กับทั้งบรรณาธิการและผู้เขียน และเป็นเรื่องเฉพาะกรณี รวมทั้งการเก็บบันทึกเรื่องนี้ไว้ในแฟ้มต้นฉบับด้วย
9. การพิมพ์ต้นฉบับ โดยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบต่างๆแล้วแต่สำนักพิมพ์
10. การตรวจพิสูจน์อักษร ต้องทำหลายครั้งและหลายคน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน



คุณสมบัติทางด้านรูปธรรมของบรรณาธิการหนังสือ

1. ต้องมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา ต้องทราบเกี่ยวกับเบื้องหลังของหนังสือแต่ละเรื่องที่ผ่านมา คือ จะต้องรู้ว่าใครเป็นคนอ่าน อ่านอะไร เมื่อไร
2. รู้ตัวเองว่าทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นั่นคือมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี บรรณาธิการจะต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ออกแบบหนังสือหรือผู้วาดภาพประกอบ ผู้จัดรูปเล่ม ตลอดจนผู้จัดจำหน่าย การติดต่อใกล้ชิดกับบุคคลหลายกลุ่ม เช่นนี้ และจะประสานให้กลุ่มต่างๆทำงานสอดคล้องไปด้วยดีนั้น ผู้ประสานงานหรือตัวบรรณาธิการจำเป็นต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
3. มีความสามารถในการวางแผนงาน รู้เป้าประสงค์ในการทำหนังสืออย่างชัดแจ้ง และรู้วิธีว่าหนังสือที่ทำนั้นจะเข้าถึงผู้อ่านอย่างไร
4. บรรณาธิการที่ดีจะต้องมีสุขภาพดีด้วย สุขภาพนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นบรรณาธิการ
คุณสมบัติทางด้านนามธรรมของบรรณาธิการหนังสือ
1. ความศรัทธา ต้องถามตนเองว่ามีความสนใจในสิ่งที่ทำหรือเปล่า ถ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กก็ถามตนเองว่าสนใจในโกจริงหรือไม่
2. เข้าใจผู้อ่าน เข้าใจเด็ก ทราบถึงธรรมชาติ ความรู้สึก ความต้องการของเด็ก ตลอดจนอารมณ์และความนึกคิดของเด็ก
3. รู้จักพิจารณา ตัดสิน เลือกเรื่องได้อย่างถูกต้อง หนังสือที่ออกมาจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าบรรณาธิการมีความสามารถและการตัดสินใจดีหรือไม่
4. บรรณาธิการจะต้องมีความสามารถในการใส่ภาพเข้าไปในเรื่องได้อย่างเหมาะสม
5. ต้องทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดให้
บรรณาธิการจะต้องเป็นผู้วางแผนเบื้องต้น จะต้องมีวัตถุประสงค์ให้ได้รับความรู้โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะต้องส่งเสริมความรู้ สร้างอุปนิสัยที่ดีงาม เพราะผู้อ่านเป็นผู้อ่านเองและรับทราบด้วยตนเอง ดังนั้นหนังสือจึงอาจเป็นพิษภัยหรือประโยชน์ก็ได้ บรรณาธิการจะต้องเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้อ่านได้แสดงออกซึ่งความคิด ความสามารถ


ภาระหน้าที่ของบรรณาธิการมากมายและยิ่งใหญ่มาก คนคนเดียวบางครั้งไม่สามารถจะแบกรับภาระหน้าที่ได้ดีหมดทุกด้าน ด้วยเหตุนี้บรรณาธิการจึงต้องมีหลายคน และทำหน้าที่ต่างๆกัน เท่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

1.บรรณาธิการใหญ่ (บริหาร) ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาวิชาการในหนังสือ หรือจะเรียกว่าบรรณาธิการอำนวยการ ก็คงได้
2.บรรณาธิการจัดการ (Managing Editor) ดูแลเรื่องทั่วไป แต่ไม่ลงลึกในเนื้อหาวิชาการของหนังสือนั้นๆ
3.บรรณาธิการทั่วไป (Editor or General Editor) ส่วนมากเป็นตำแหน่งลอยคอยให้ความช่วยเหลือบรรณาธิการประเภทอื่นๆอาจจะเรียกว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาก็ได้
4. บรรณาธิการผู้ช่วย (Assistant Editor) หนังสือเล่มหนึ่งมีได้หลายคน
5.บรรณาธิการมอบหมาย (Commissioning Editor) คือมอบงานใดงานหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่งให้ไปทำในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
6.บรรณาธิการร่วม (Associate Editor)
7. บรรณาธิการที่ปรึกษา (Consultant Editor) ในหนังสือหรือวารสารเล่มหนึ่งๆจะมีกี่คนก็ได้
8. บรรณาธิการย่อย (Copy Editor or Sub editor)
9. บรรณาธิการเฉพาะด้าน (Features Editor) เช่นบรรณาธิการแฟชั่น (Fashions Editor) บรรณาธิการกีฬา (Sports Editor) เป็นต้น
10. Acquisitions Editor ทำหน้าที่คล้ายๆ กับบรรณาธิการ


ไม่มีความคิดเห็น: